นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติร่างพระราชบัญญัติการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) (ฉบับที่ …) พ.ศ. … ซึ่งเป็นฉบับปรับปรุง ขั้นตอนต่อไปจะเข้าสู่การเสนอต่อสภาผู้แทนราษฎรเพื่อพิจารณาในวาระที่ 1-วาระที่ 3 ตามลำดับ คาดว่าจะสามารถดำเนินการในส่วนขั้นตอนนี้ได้ทันภายในเดือนกันยายน 2568
นายสุริยะ กล่าวว่า การขับเคลื่อนนโยบาย 20 บาทตลอดสาย จะต้องสอดคล้องกับร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การบริหารจัดการระบบตั๋วร่วม พ.ศ. … ด้วย ซึ่ง พ.ร.บ. ตั๋วร่วม ฉบับปัจจุบันมีข้อจำกัดที่กองทุนรายได้ พ.ร.บ. สามารถรับได้แต่เงินบริจาคเท่านั้น แต่ไม่สามารถให้กู้ยืมได้ ด้วยเหตุนี้ จึงมีความจำเป็นจะต้องแก้ไข พ.ร.บ. รฟม. เพื่อให้กองทุนสามารถกู้ยืมได้ ซึ่งเรื่องนี้กำลังอยู่ในขั้นตอนการพิจารณาวาระ 2
นายสุริยะ กล่าวว่า กระทรวงคมนาคม ยืนยันว่า การแก้ไข พ.ร.บ.ตั๋วร่วม และ พ.ร.บ. รฟม. จะต้องดำเนินการไปพร้อมกัน เพื่อให้เสร็จสมบูรณ์ก่อนช่วงเดือนกันยายนนี้ เพื่อให้การดำเนินการนโยบายค่าโดยสาร 20 บาทตลอดสาย เป็นไปตามแผนสำเร็จอย่างราบรื่น
นายสุริยะ กล่าวว่า เดิมที รฟม. มีเงินกำไรสะสมจากการเดินรถไฟฟ้า และต้องการนำเงินส่วนนี้มาสนับสนุนนโยบายดังกล่าว อย่างไรก็ตาม กระทรวงการคลังไม่อนุมัติการใช้เงินสะสมโดยตรง เนื่องจากระเบียบเดิมกำหนดให้รายได้ทั้งหมดของ รฟม. ต้องนำส่งเข้ากระทรวงการคลัง ดังนั้น เงินสะสมของ รฟม. ที่มีอยู่ประมาณ 15,000 – 16,000 ล้านบาท จะต้องถูกนำส่งเข้าคลังและกลายเป็นรายได้แผ่นดิน ก่อนที่จะมีการจัดสรรงบประมาณเพื่อนำมาใช้ ซึ่งต้องเป็นไปตามกระบวนการจัดสรรงบประมาณ
นายสุริยะ กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับกลไกการใช้เงินเบื้องต้น เมื่อ รฟม. นำเงินส่งเข้ากระทรวงการคลังแล้ว กระทรวงการคลังจะนำเงินดังกล่าวไปปล่อยกู้ให้กับกองทุนภายใต้ พ.ร.บ.ตั๋วร่วม โดยกองทุนนี้จะเป็นผู้กู้ อย่างไรก็ตาม กระทรวงการคลังยืนยันว่าการกู้เงินเพื่อเข้ากองทุนตั๋วร่วมนี้ จะไม่ถูกบันทึกเป็นหนี้ในบัญชีการเงินของ รฟม.
นอกจากนี้ กระทรวงการคลังจะเร่งผลักดันกองทุนค่าธรรมเนียมรถติด (Congestion Charge) เพื่อนำเงินที่ได้จากกองทุนนี้มาซื้อคืนรถไฟฟ้า ซึ่งภายหลังจากนั้นจะไม่จำเป็นต้องใช้เงินจาก รฟม. มาอุดหนุนอีกต่อไป