xs
xsm
sm
md
lg

ครม.รับทราบมาตรการรับมือฤดูฝน-การบริหารจัดการน้ำ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



นายอนุกูล พฤกษานุศักดิ์ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า คณะรัฐมนตรีรับทราบมาตรการรับมือฤดูฝน ปี 2568 และโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในช่วงฤดูฝน ปี 2568 และส่งเสริมการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในฤดูแล้ง ปี 2568/2569

นายอนุกูล กล่าวว่า ตามปฏิทินการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำช่วงฤดูฝน ปี 2568 เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2568 สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สนทช.) ร่วมกับทุกภาคส่วนถอดบทเรียนการบริหารจัดการน้ำฤดูฝน ปี 2567 มาปรับปรุงมาตรการรับมือฤดูฝน ปี 2568 เพื่อบริหารจัดการทรัพยากรน้ำและเตรียมความพร้อมรับมือกับสถานการณ์ที่อาจจะเกิดขึ้น จำนวน 9 มาตรการ รวมทั้งได้จัดทำโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการน้ำในช่วงฤดูฝน ปี 2568 และส่งเสริมการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในฤดูแล้ง ปี 2568/2569 ดังนี้

(1) มาตรการรับมือฤดูฝน ปี 2568 มีสาระสำคัญเป็นการกำหนดกรอบการดำเนินงานในการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำและเตรียมความพร้อมรับมือกับสถานการณ์อุทกภัยที่อาจจะเกิดขึ้น โดยมาตรการรับมือฤดูฝนส่วนใหญ่ยังคงเดิม แต่มีการยุบรวมมาตรการจากเดิม 10 มาตรการ เป็น 9 มาตรการ (โดยยุบรวมมาตรการ 8 สร้างความเข้มแข็งเครือข่ายภาคประชาชนในการให้ข้อมูลสถานการณ์ และมาตรการ 9 การสร้างการรับรู้ ศูนย์บริการสถานการณ์น้ำ และประชาสัมพันธ์) และมีการปรับเพิ่มการดำเนินงานภายใต้มาตรการเพื่อกำหนดรายละเอียดให้ชัดเจนยิ่งขึ้น ดังนี้
มาตรการที่ 1 คาดการณ์ชี้เป้าและแจ้งเตือนพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมและพื้นที่เสี่ยงฝนทิ้งช่วง (ก่อนฤดูฝน – ตลอดช่วงฤดูฝน)

มาตรการที่ 2 ทบทวน ปรับปรุง เกณฑ์บริหารจัดการน้ำในแหล่งน้ำ อาคารควบคุมบังคับน้ำอย่างบูรณาการในระบบลุ่มน้ำและกลุ่มลุ่มน้ำ (ก่อนฤดูฝน – ตลอดช่วงฤดูฝน)

มาตรการที่ 3 เตรียมความพร้อมเครื่องจักรเครื่องมือ อาคารชลศาสตร์ ระบบระบายน้ำ โทรมาตร บุคลากรประจำพื้นที่เสี่ยงให้สามารถรองรับสถานการณ์ในช่วงน้ำหลากและฝนทิ้งช่วง (ก่อนฤดูฝน – ตลอดช่วงฤดูฝน)

มาตรการที่ 4 ตรวจสอบพร้อมติดตามความมั่นคงปลอดภัย คันกันน้ำ ทำนบ พนังกั้นน้ำ (ก่อนฤดูฝน – ตลอดช่วงฤดูฝน)

มาตรการที่ 5 เพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำของทางน้ำอย่างเป็นระบบ (ก่อนฤดูฝน – ตลอดช่วงฤดูฝน)

มาตรการที่ 6 ซักซ้อมแผนเผชิญเหตุตั้งศูนย์ส่วนหน้าก่อนเกิดภัยและฟื้นฟูสภาพให้กลับสู่สภาพปกติ (ตลอดช่วงฤดูฝน)

มาตรการที่ 7 เร่งพัฒนาและเก็บกักนำ ในแหล่งน้ำทุกประเภทช่วงปลายฤดูฝน (ตลอดช่วงฤดูฝน)

มาตรการที่ 8 สร้างการรับรู้ความเสี่ยงและสร้างความเข้มแข็งเครือข่ายในการติดตามเฝ้าระวัง รับมือภัยด้านน้ำ (ก่อนฤดูฝน – ตลอดช่วงฤดูฝน)

มาตรการที่ 9 ติดตามประเมินผลปรับมาตรการให้สอดคล้องกับสถานการณ์ภัย (ตลอดช่วงฤดูฝน)

(2) โครงการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในช่วงฤดูฝน ปี 2568 และส่งเสริมการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในฤดูแล้ง ปี 2568/2569 มีสาระสำคัญเป็นการกำหนดหลักเกณฑ์ในการจัดทำแผนงานโครงการการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ เพื่อให้หน่วยงานต่างๆ สามารถเตรียมแผนงานโครงการได้อย่างถูกต้อง ครบถ้วนและสอดคล้องกับมาตรการรับมือฤดูฝน ปี 2568 โดยมีการปรับปรุงรายละเอียดในบางประเด็น เช่น ปรับจำนวนกิจกรรม และรายละเอียดแผนงานภายใต้โครงการ จาก 5 กิจกรรม เป็น 6 ประเภทและปรับระยะเวลาการรายงานผลการดำเนินงานให้สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ทราบ จากทุกวันที่ 1 ของทุกเดือน จนกว่าการดำเนินโครงการจะแล้วเสร็จ เป็น ทุกวันที่ 5 ของทุกเดือน จนกว่าการดำเนินโครงการจะแล้วเสร็จ ดังนี้

1. การซ่อมแซมอาคารชลศาสตร์ โดยซ่อมแซมอาคารชลศาสตร์ที่ชำรุดเสียหายจากการใช้งานหรือการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ การควบคุม การระบายน้ำ และการเก็บกักน้ำ ให้สามารถใช้งานได้เช่น ซ่อมแซมพนังกั้นน้ำ/คันกั้นน้ำ ซ่อมแซมระบบส่งน้ำ/ระบายน้ำ ซ่อมแซมอาคารบังคับน้ำ เป็นต้น

2. การปรับปรุงอาคารชลศาสตร์ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพอาคารเดิมให้เหมาะสมกับสภาวการณ์ในปัจจุบันหรือสอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงในอนาคต หรือขยายขอบเขตการรับประโยชน์ เช่น ปรับปรุงแหล่งกักเก็บน้ำหรืออาคารประกอบ การขยายขีดความสามารถระบบโทรมาตรและการแจ้งเตือนภัย เป็นต้น

3. การเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำ เพื่อแก้ไขสิ่งกีดขวางทางน้ำที่เป็นอุปสรรคต่อการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ การระบายน้ำ การจัดการพื้นที่น้ำท่วม/พื้นที่ชะลอน้ำ หรือเสริมประสิทธิภาพ การระบายน้ำเช่น การกำจัดผักตบชวา/วัชพืชน้ำ ขุดลอกคู คลอง ลำน้ำ แก้มลิง

4. การเพิ่มน้ำต้นทุน โดยการจัดหาแหล่งน้ำรองรับน้ำส่วนเกินในช่วงฤดูฝน หรือแหล่งน้ำสำรองเพื่อเสริมการบริหารจัดการน้ำในช่วงเวลาฤดูแล้งถัดไป เช่น สระ/อ่างเก็บน้ำ ระบบกระจายน้ำ ขุดเจาะบ่อบาดาล ขุดลอกสระ ปฏิบัติการฝนหลวง เป็นต้น

5. การสร้างความมั่นคงด้านน้ำเพื่อการอุปโภค – บริโภค โดยการซ่อมแซม ปรับปรุง ระบบประปาที่มีอยู่เดิมและจัดหาระบบประปาใหม่ เช่น การเป่าล้างทำความสะอาดบ่อบาดาล ซ่อมแซมระบบประปา ก่อสร้างระบบประปา เป็นต้น

6. การเตรียมพร้อมเครื่องจักร เครื่องมือ โดยเตรียมความพร้อมเครื่องจักรเครื่องมือที่มีอยู่แล้วให้อยู่ในสภาพพร้อมใช้งาน และจัดหาเพิ่มเติมตามความจำเป็นเร่งด่วน เพื่อรองรับการบริหารจัดการน้ำตามสถานการณ์ต่าง ๆ ที่อาจจะเกิดขึ้น เช่น ซ่อมแซมเครื่องสูบน้ำ จัดหาเรือกู้ภัย เป็นต้น