นางสาวศศิกานต์ วัฒนะจันทร์ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า คณะรัฐมนตรีรับทราบมติสมัชชาสุขภาพเฉพาะประเด็นการปกป้องเด็กและเยาวชนจากบุหรี่ไฟฟ้า (มติสมัชชาสุขภาพเฉพาะประเด็นฯ) และเห็นชอบมาตรการการป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดบุหรี่ไฟฟ้าในประเทศไทย 5 มาตรการ ตามที่คณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (คสช.) เสนอ โดยมีมาตรการการป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดบุหรี่ไฟฟ้าในประเทศไทย 5 มาตรการ ประกอบด้วย
มาตรการที่ 1 พัฒนาและจัดการองค์ความรู้ เช่น กำหนดให้สถานศึกษาเป็นสถานศึกษาปลอดบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้า เช่น บูรณาการการเรียนการสอนและกิจกรรมพัฒนาผู้เรียนให้รู้เท่าทันพิษภัยและกลยุทธ์ทางตลาดของบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้าให้สอดรับกับระดับการเรียนรู้ของแต่ละช่วงวัย
มาตรการที่ 2 สร้างการรับรู้ภยันอันตรายและการเสพติดของบุหรี่ไฟฟ้าแก่เด็ก เยาวชน และสาธารณชน เช่น สร้างความตระหนักรู้ถึงภยันอันตรายและการเสพติดของบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้าหรือผลิตภัณฑ์ที่มีนิโคตินรูปแบบใหม่ และดำเนินการผลิต เผยแพร่ และประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับภยันตรายและการเสพติดของบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้าหรือผลิตภัณฑ์ที่มีนิโคตินรูปแบบใหม่ๆ ที่ไม่ใช่ผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์
มาตรการที่ 3 เฝ้าระวังและบังคับใช้กฎหมายควบคุมบุหรี่ไฟฟ้า เช่น กำหนดมาตรการทางกฏหมาย ตลอดจนระเบียบต่างๆ เพื่อกำกับดูแลการประกอบกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคม มิให้มีการเผยแพร่และนำเสนอประเด็นที่บิดเบือนเกี่ยวกับบุหรี่หรือบุหรี่ไฟฟ้า จัดทำคู่มือหรือแนวทางในการผลิตสื่อภาพยนตร์ วิดีทัศน์ หรือสื่ออื่นใดที่หลีกเลี่ยงให้มีบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้า รวมถึงผลิตภัณฑ์ยาสูบอยู่ในองค์ประกอบส่วนหนึ่งของฉาก ตลอดจนสำรวจความชุกของการใช้บุหรี่ไฟฟ้า อย่างน้อยทุกๆ 2 ปี
มาตรการที่ 4 พัฒนาศักยภาพภาคีเศรืยช่ายเพื่อสนับสนุนมาตรการป้องกัน ควบคุมบุหรี่ไฟฟ้า เช่น จัดทำแนวปฏิบัติการขนส่งโดยระบุให้บุหรี่ไฟฟ้าเป็นสินค้าต้องห้ามส่ง เพื่อป้องกันการเข้าถึงบุหรี่ไฟฟ้าในช่องทางการซื้อขายโดยเฉพาะทางออนไลน์ รวมถึงให้หน่วยงานภาครัฐ กำหนดนโยบายเพื่อส่งเสริมให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและชุมชนดำเนินกิจกรรมในการสร้างความตระหนักรู้และร่วมปกป้องเด็กและเยาวชนจากการเสพติดบุหรี่ไฟฟ้า
มาตรการที่ 5 ยืนยันนโยบายและมาตรการป้องกัน และปราบปรามการแพร่ระบาดบุหรี่ไฟฟ้า โดยที่คำนึงถึงพันธสัญญาที่ประเทศไทยได้ร่วมเป็นสมาชิกและต้องดำเนินการตามกรอบอนุสัญญาว่าด้วยการควบคุมยาสูบขององค์การอนามัยโลก อนุสัญญาด้วยสิทธิ์เด็ก และเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยองค์กรสหประชาชาติ และพระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก พ.ศ. 2546
ทั้งนี้ คณะรัฐมนตรีได้มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับไปพิจารณาดำเนินการตามภาระหน้าที่ที่เกี่ยวข้องต่อไป