นายนภินทร ศรีสรรพางค์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า กระทรวงพาณิชย์มีนโยบายขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานราก โดยใช้ประโยชน์จากการขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ หรือ GI เพื่อคุ้มครองสินค้าท้องถิ่นชุมชนที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวในพื้นที่แหล่งผลิตสินค้าในแต่ละท้องถิ่น สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้า ตลอดจนส่งเสริมการจัดทำระบบควบคุมคุณภาพสินค้าเพื่อสร้างความเชื่อมั่นแก่ผู้บริโภค และขยายช่องทางการตลาดอย่างต่อเนื่อง ทำให้สินค้า GI เป็นสินค้าสำคัญที่ขับเคลื่อนนโยบาย Soft Power ตามนโยบายของรัฐบาล
ล่าสุด กรมทรัพย์สินทางปัญญาได้ประกาศขึ้นทะเบียน "เตยหอมปทุม" เป็นสินค้า GI ลำดับที่ 3 ของจังหวัดปทุมธานี ต่อจากกล้วยหอมทองปทุม และข้าวหอมปทุมธานี ที่ได้รับการขึ้นทะเบียน GI ไปก่อนหน้านี้
จังหวัดปทุมธานี เป็นแหล่งปลูกใบเตยที่มีอัตลักษณ์ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศ ด้วยพื้นที่ของจังหวัดปทุมธานี เป็นดินเหนียวเกิดจากตะกอนลำน้ำผสมกับตะกอนภาคพื้นมหาสมุทรเดิม ทำให้ดินอุดมสมบูรณ์ มีน้ำขังเพียงพอ ส่งผลให้เตยหอมปทุมเจริญเติบโตได้ดีและมีอัตลักษณ์พิเศษ คือ มีกลิ่นหอม สีสวย กอใหญ่ ใบกว้างยาว ผิวใบมันเงา และกากใยของใบนิ่ม เมื่อตัด ขยี้ใบ หรือนำใบมาต้ม จะได้น้ำสีเขียวเข้มและมีกลิ่นหอมมาก แตกต่างจากเตยหอมในพื้นที่อื่น เตยหอมปทุมจึงเป็นที่นิยมนำมาใช้เป็นส่วนประกอบสำหรับทำขนมไทย เช่น ขนมเปียกปูน ขนมชั้น กาละแม สังขยา และลอดช่อง เป็นต้น และเป็นที่ต้องการอย่างมากในตลาดผู้บริโภค จนกลายเป็นพืชท้องถิ่นที่เกษตรกรในพื้นที่นิยมปลูกมากที่สุด นับว่าเป็นแหล่งเพาะปลูกที่มีปริมาณและพื้นที่เพาะปลูกมากที่สุดในประเทศไทย สร้างชื่อเสียงและรายได้สู่เกษตรกรในพื้นที่กว่า 32 ล้านบาทต่อปี