นายวิระ เรืองศรี ผู้จัดการบริษัท 3117 บิม เมเนจเมนท์ จำกัด (3117 BIM Management) เปิดเผยถึงการเข้าพบคณะพนักงานสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) เพื่อให้ข้อมูลเรื่องโครงสร้างตึก สตง. และให้ข้อสังเกตจุดวิบัติของตึก สตง. เนื่องด้วยนายวิระ เป็นผู้เชี่ยวชาญเรื่องการควบคุมงานก่อสร้าง การออกแบบก่อสร้าง การให้คำปรึกษาการก่อสร้าง มีประสบการณ์เชี่ยวชาญด้านการสร้างแบบจำลองข้อมูลอาคารด้วยโปรแกรม BIM (Building Information Modeling)
โดยได้ให้ข้อสังเกตกับดีเอสไอใน 3 ประเด็น คือ (1) เหตุของการแก้ไขสัญญา จำนวน 9 ครั้ง (2) ประเด็นเชิงวิศวกรรม การตั้งข้อสังเกตของโครงสร้างอาคาร และ (3) ประเด็นที่มาของผู้ออกแบบ วิศวกร และผู้ควบคุมงาน ซึ่งในการแก้ไขแบบสัญญาทั้ง 9 ครั้ง ต้องเน้นไปที่การแก้ไขแบบครั้งที่ 4 เพราะมันคือการแก้ไข Core Lift (การแก้ไขผนังปล่องลิฟต์) ผนังรับเเรงเฉือน และส่วนควบอื่นๆ ทั้งหมด
นอกจากนี้ ยังมีประเด็นเรื่องการล็อกสเปกปล่องลิฟต์ของผู้ออกแบบ ทำให้ลดผนังปล่องลิฟต์ไม่ได้ ทั้งที่มันลดได้ เพราะถ้าลดผนังปล่องลิฟต์ข้างละ 5 ซม. อย่างไรก็ใส่ลิฟต์ได้อยู่แล้ว แต่ปรากฏว่าในครั้งแรกของการออกแบบ ผู้ออกแบบจะมีการเลือกรุ่นลิฟต์ ขนาดลิฟต์ ยี่ห้อลิฟต์ไว้ ซึ่งใน TOR (รายการประกอบแบบลิฟต์) ที่ผู้รับจ้างเป็นผู้ซื้อลิฟต์ ต้องซื้อยี่ห้อนี้ รุ่นนี้ แบรนด์นี้ ขนาดปล่องเท่านี้ เป็นต้น
ส่วนเรื่องวิศวกรรมโครงสร้าง คือเรื่องฐานราก ทำไมด้านหลังของตึก สตง. ทรุดจุดแรก ซึ่งมันมีการแก้ไขตัวฐานรากเพิ่มเติม จากแบบตามสัญญา เพราะมันมี 2 แบบ คือแบบตามสัญญา และแบบแก้ไข แต่ทางผู้รับเหมาก็ทำให้มันดีขึ้น ทั้งที่ไม่ใช่หน้าที่ของเขา
นอกจากนี้ แบบในการเสริมเหล็กผนังอาคาร 3 ชั้นของลานจอดรถ สตง. (มีการใส่เหล็กทุกเสา ไม่มีแตก) และการเสริมเหล็กอาคาร 30 ชั้น (เหล็กเล็ก) มันมีความแตกต่าง อาจเป็นผู้ออกแบบคนละคน ซึ่งพบว่าเป็นคนละคนจริงๆ แต่สามารถทำได้ เพราะคนละตึกกัน แต่คือความบกพร่องอย่างหนึ่งของอาคาร 30 ชั้น ต้องดูว่าการเสริมเหล็กถูกต้องหรือไม่ ก็ต้องไปดูที่การคำนวณ ส่วนที่ว่าทำไมอาคารมันจึงเอียงไปอีกฝั่ง สไลด์ไปข้างหลัง ซึ่งก็จะสอดคล้องกับปล่องลิฟต์มัดนั้นมันอ่อน อาคารเลยไม่เซหรือทรุดลงตรง ๆ และหากดูตามภาพในไซต์งาน จะมีเสา 5 ต้นของชั้น 19 เรียงในหลุมลิฟต์เป็นแถว เรียงปักทิ่มดิน นี่คือบทพิสูจน์ว่าอาคารมันสไลด์ไปข้างหลัง จึงทำให้เสาชุดนี้ขาด ขาดแล้วก็ไหลตรงๆ เพราะปล่องลิฟต์โล่ง เสาจึงเรียงตามภาพ
ภายหลังจากที่คณะพนักงานสอบสวนได้เร่งดำเนินการสอบสวนขยายผลในคดีนอมินี บริษัท ไชน่า เรลเวย์ฯ รวมถึงตรวจสอบกระบวนการการได้มาซึ่งสัญญา 3 ฉบับ ได้แก่ สัญญาการรับเหมาก่อสร้าง สัญญาการออกแบบ สัญญาการควบคุมงาน ของโครงการก่อสร้างอาคารที่ทำการสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) แห่งใหม่ โดยได้ออกหมายเรียกพยานเชิญกรรมการผู้มีอำนาจของบริษัทต่างๆ และรายชื่อบุคคลที่มีอำนาจรับผิดชอบภายใต้สัญญานั้นๆ ไม่ว่าจะเป็น กรรมการบริษัทของสัญญารับเหมาก่อสร้าง อย่าง บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) กรณีเป็นกิจการร่วมค้ากับ บริษัท ไชน่า เรลเวย์ นัมเบอร์ 10 (ประเทศไทย) จำกัด
หรือในส่วนกรรมการบริษัทของสัญญาการออกแบบ อย่าง บริษัท ไมนฮาร์ท (ประเทศไทย) จำกัด กรณีเป็นกิจการร่วมค้ากับ บริษัท ฟอ-รัม อาร์คิเทค จำกัด และในส่วนของกรรมการบริษัทของสัญญาควบคุมงาน อย่างกิจการร่วมค้า PKW อันประกอบด้วย บริษัท พี เอ็น ซิงค์โครไนซ์ จำกัด บริษัท ว. และสหายคอลซัลแตนตส์ จำกัด และ บริษัท เคพี คอนชัลแทนส์ จำกัด รวมไปถึงการสอบปากคำพยานวิศวกรภายใต้กิจการร่วมค้า PKW ทั้ง 38 ราย ที่มีรายชื่อและลายเซ็นปรากฏในเอกสารการควบคุมงานก่อสร้างตึก สตง. สรุปรวมได้ว่า ถูกปลอมลายเซ็นควบคุมงาน 30 ราย และยอมรับว่าเซ็นควบคุมงานจริง 8 ราย
เมื่อการสอบสวนได้รายละเอียดมาพอสมควรแล้ว เป็นเหตุให้ พ.ต.ต.ยุทธนา แพรดำ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ เตรียมเรียกประชุมคณะพนักงานสอบสวน ติดตามอัปเดตความคืบหน้าทางคดีในวันอังคารที่ 6 พฤษภาคม 2568 เวลา 13.00 น. ที่อาคารกรมสอบสวนคดีพิเศษ เพื่อจะได้กำหนดกรอบเวลาในการสรุปสำนวนคดีส่งให้พนักงานอัยการคดีพิเศษ ภายในระยะเวลาการฝากขังผู้ต้องหากลุ่มแรก (3 นอมินีไทย และนายชวนหลิง จาง) ในช่วงผัดฝากขังที่ 1-3 เพื่อให้อัยการได้มีเวลาตรวจสอบสำนวนก่อนส่งไปยังศาลอาญารัชดาภิเษก
ทั้งนี้ ข้อมูลล่าสุดเมื่อเวลา 18.00 น. วานนี้ (5 พ.ค.) ยอดผู้เสียชีวิตที่พบร่าง 87 ราย จากทั้งหมด 109 ราย สูญหายอีก 13 ราย บาดเจ็บ 9 ราย