เมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2568 เวลา 08.30 น. รศ.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร แถลงข่าวการเตรียมความพร้อมบังคับใช้ ข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง การควบคุมการเลี้ยงหรือปล่อยสัตว์ พ.ศ. 2567 ณ ห้องรัตนโกสินทร์ ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร (เสาชิงช้า) เขตพระนคร พร้อมด้วย นายสัตวแพทย์ ศิษฏพล เอี่ยมวิสูตร์ จากสำนักงานสัตวแพทย์สาธารณสุข สำนักอนามัย, นางสาวชัญญา ผาสุพงษ์ จากสมาคมสงเคราะห์สัตว์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ และนายโรเจอร์ โลหนันทน์ เลขาธิการสมาคมพิทักษ์สัตว์ไทย
“สาระสำคัญของข้อบัญญัติฯ คือ เรื่องความเป็นอยู่ของสัตว์เลี้ยง ไม่ว่าจะอยู่ในที่ที่ท่านเลี้ยง หรือจะออกมานอกบ้าน จะต้องมีข้อกำหนด เพื่อให้สามารถอยู่ร่วมกันได้ทั้งคนที่อยากเลี้ยงจำนวนน้อยหรือจำนวนมาก ท่านที่เลี้ยงอยู่กับตัวเองหรือท่านที่อยากจะพาเค้าออกมาเดินเล่น
ข้อบัญญัติฯ นี้จะทำให้เราเลี้ยงสัตว์หรือครอบครองสัตว์และอยู่ในสังคมร่วมกันได้ดีขึ้น” รศ.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าฯ กทม. กล่าว
.
🦮🚶🏻♂️เจ้าของสัตว์ต้องเลี้ยงสัตว์ตามปกติวิสัย และต้องปฏิบัติ ดังนี้
1. จัดสถานที่เลี้ยงที่มั่นคง สะอาด เหมาะสมกับชนิดสัตว์ มีน้ำ อาหาร อากาศ แสง และระบบระบายที่ดี
2. รักษาสถานที่เลี้ยงสัตว์ให้สะอาดอยู่เสมอ ไม่ปล่อยให้เกิดกลิ่นหรือความรำคาญต่อผู้ที่อยู่บริเวณใกล้เคียง
3. ฉีดวัคซีน สร้างภูมิคุ้มกัน หากสงสัยว่าเป็นโรคอันตราย ให้แยกสัตว์นั้นไว้ต่างหาก พร้อมแจ้งเจ้าหน้าที่และปฏิบัติตามคำแนะนำของสัตวแพทย์
4. ควบคุมสัตว์ไม่ให้หลุดออกจากที่เลี้ยง โดยเฉพาะสัตว์ดุร้ายต้องมีกรงและป้ายเตือนชัดเจน
5. จัดให้สัตว์สามารถแสดงพฤติกรรมตามธรรมชาติตามสมควร
6. ควบคุมดูแลสัตว์ของตนมิให้ก่ออันตรายหรือเหตุรำคาญแก่ผู้อื่น
7. เมื่อสัตว์ตาย ต้องกำจัดซากสัตว์และมูลสัตว์อย่างถูกสุขลักษณะ ไม่ให้เป็นแหล่งเชื้อโรคหรือกลิ่นเหม็น
8. ปฏิบัติตามคำแนะนำหรือคำสั่งของเจ้าหน้าที่ และข้อกำหนดของกรุงเทพมหานคร
ประโยชน์ที่ประชาชนจะได้รับจากข้อบัญญัติฯ ใหม่ มีดังนี้
1. ไมโครชิปสามารถใช้งานได้ตลอดชีวิตของสัตว์ ไม่สูญหายเหมือนป้ายห้อยคอ หากพบสัตว์หลงในที่สาธารณะ กทม. สามารถติดตามและติดต่อเจ้าของได้ รวมถึงใช้ยืนยันตัวเจ้าของในกรณีเกิดข้อพิพาท
2. ช่วยป้องกันการปล่อยทิ้งสัตว์มีเจ้าของให้กลายเป็นสัตว์จร พร้อมควบคุมประชากรผ่านโครงการดูแลแมวจรในชุมชน และโครงการทำหมัน-ฉีดวัคซีนป้องกันพิษสุนัขบ้า
ด้าน นางสาวชัญญา ผาสุพงษ์ จากสมาคมสงเคราะห์สัตว์ฯ กล่าวเสริมว่า “คนที่จดทะเบียนสัตว์เลี้ยงจะมีบัตรประชาชนของสุนัข แมว หากวันหนึ่งที่ กทม. มีกิจกรรม Dog Park คนที่จดทะเบียนสามารถเข้าร่วมงานได้ หรือได้ตรวจสุขภาพสัตว์ฟรี ได้ฉีดวัคซีนพิษสุนัขบ้าฟรี มีกิจกรรมที่เข้าร่วมได้ ส่งเสริมการเข้าถึง และจัดการถึง มีโอกาสที่ดีกว่า ฉะนั้นสิ่งเหล่านี้คือสิ่งที่ส่งเสริมคุณภาพสัตว์ และดูแลสัตว์ได้ดีขึ้น”
ในส่วนการดำเนินการของกรุงเทพมหานครที่เกี่ยวข้อง ดังนี้
-กทม. เตรียมความพร้อมใช้ข้อบัญญัติฯ โดยหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รณรงค์จดทะเบียนและฝังไมโครชิปสุนัข-แมว พร้อมออกหน่วยสัตวแพทย์เคลื่อนที่ 6 กลุ่มเขต และประชาสัมพันธ์ให้ความรู้แก่ผู้เลี้ยงสัตว์ในพื้นที่กรุงเทพฯ
-ควบคุมประชากรสัตว์ ฉีดวัคซีนป้องกันพิษสุนัขบ้า และจดทะเบียนสัตว์ โดยให้บริการที่คลินิกสัตวแพทย์ กทม. ทั้ง 8 แห่ง ได้แก่
1.กลุ่มควบคุมโรคพิษสุนัขบ้า ถ.มิตรไมตรี เขตดินแดง โทร.0 2248 7417
2.คลินิกสัตวแพทย์ กทม.1 สี่พระยา เขตบางรัก โทร. 0 2236 4055 ต่อ 213
3.คลินิกสัตวแพทย์ กทม.2 มีนบุรี เขตมีนบุรี โทร. 0 2914 5822
4.คลินิกสัตวแพทย์ กทม.3 วัดธาตุทอง เขตวัฒนา โทร. 0 2392 9278
5.คลินิกสัตวแพทย์ กทม.4 บางเขน เขดจตุจักร โทร. 0 2579 1342
6.คลินิกสัตวแพทย์ กทม.5 วัดหงส์รัตนาราม เขตบางกอกใหญ่ โทร.0 2472 5895 ต่อ 109
7.คลินิกสัตวแพทย์ กทม.6 ช่วง นุชเนตร เขตจอมทอง โทร. 0 2476 6493 ต่อ 1104
8.คลินิกสัตวแพทย์ กทม.7 บางกอกน้อย เขตบางกอกน้อย โทร. 0 2411 2432
และ น.สพ.ศิษฏพล เอี่ยมวิสูตร์ จากสำนักงานสัตวแพทย์สาธารณสุข กล่าวเสริมว่า หลังจากประกาศใช้ข้อบัญญัติฯ เราจะทำเชิงรุกมากขึ้น (ทำหมัน ฉีดวัคซีน ฝังไมโครชิพ) ตอนนี้ทาง กทม. กำลังเร่งพัฒนาการจดทะเบียนสัตว์เลี้ยงทางอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งคิดว่าจะดำเนินการได้เร็ว ๆ นี้
ส่วน นายโรเจอร์ โลหนันทน์ จากสมาคมพิทักษ์สัตว์ไทย กล่าวว่า “เราอยากชี้ให้เห็นว่าเมื่อ 20 ปีก่อน ทำไมข้อบัญญัติฯ เมื่อปี 2548 ถึงใช้การไม่ได้ เรายินดีมากที่ทาง กทม. หยิบมาปัดฝุ่น เพื่อลดเรื่องข้อพิพาท ระหว่างคนรักสัตว์ และคนที่มีปัญหากับสัตว์ เพราะฉะนั้น ความรักอย่างเดียวมันไม่พอ ต้องมีความรู้ และความรับผิดชอบกับสังคมด้วย”