วานนี้ (2 พ.ค.) นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม พร้อมด้วยนายชาครีย์ บำรุงวงศ์ หัวหน้าผู้ตรวจราชการกระทรวงคมนาคม นายวีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) และนายฐากูร อินทรชม รองผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย ให้การต้อนรับ H.E. Loke Siew Fook รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมมาเลเซียและคณะ ในโอกาสเดินทางเยือนประเทศไทย เพื่อศึกษาดูงานด้านระบบรางเกี่ยวกับโครงการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงเพื่อเชื่อมโยงภูมิภาค ณ สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ ซึ่งเป็นศูนย์กลางระบบรางที่ใหญ่ที่สุดในอาเซียน โดยบริเวณชั้น 3 ได้รับการออกแบบให้รองรับรถไฟความเร็วสูง และโครงการรถไฟฟ้าเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง–สุวรรณภูมิ–อู่ตะเภา) ซึ่งเป็นโครงสร้างพื้นฐานสำคัญในการเชื่อมโยงการเดินทางและระบบโลจิสติกส์ภูมิภาคเข้าด้วยกัน
สำหรับโครงการรถไฟความเร็วสูง เป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์ด้านโครงสร้างพื้นฐานภายใต้ความร่วมมือระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทย และรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน เพื่อเชื่อมโยงการเดินทางจากกรุงเทพมหานครสู่เวียงจันทน์ และนครคุนหมิง ผ่านโครงข่ายรถไฟความเร็วสูงของ สปป.ลาว และจีนอย่างไร้รอยต่อ
ปัจจุบัน ประเทศไทยอยู่ระหว่างดำเนินการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูง 2 โครงการหลัก ได้แก่ 1.โครงการรถไฟความเร็วสูงไทย–จีน ระยะที่ 1 (ช่วงกรุงเทพมหานคร - นครราชสีมา) ระยะทาง 251 กิโลเมตร ปัจจุบันมีความคืบหน้ารวมประมาณ 42.91% โดยเฉพาะสัญญาที่ 4-1 ช่วงบางซื่อ–ดอนเมือง อยู่ระหว่างการเสนอแนวทางแก้ไขโครงการต่อคณะกรรมการ EEC เพื่อขอความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี คาดว่าจะสามารถเริ่มออกแบบและก่อสร้างโครงสร้างร่วมได้ภายในปี 2568 และ 2. ช่วงดอนเมือง – สุวรรณภูมิ - อู่ตะเภา เป็นเส้นทางที่รวมโครงการรถไฟความเร็วสูงสายตะวันออก (กรุงเทพฯ - ระยอง) และรถไฟเชื่อมท่าอากาศยานเข้าด้วยกัน เพื่อรองรับการขยายตัวของอุตสาหกรรมการบินของไทย
ส่วนโครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน ระยะที่ 2 ช่วงนครราชสีมา–หนองคาย ระยะทาง 357.12 กิโลเมตร งบประมาณลงทุนจำนวน 341,351.42 ล้านบาท ประกอบด้วย 5 สถานี ได้แก่ สถานีบัวใหญ่ สถานีบ้านไผ่ สถานีขอนแก่น สถานีอุดรธานี และสถานีหนองคาย ซึ่งเป็นเส้นทางต่อเนื่องของช่วงกรุงเทพฯ - นครราชสีมา โดยเมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2568 ที่ผ่านมา ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติให้การรถไฟฯ ดำเนินการในส่วนของการจัดสรรกรรมสิทธิ์ที่ดินและชดเชยทรัพย์สินและการก่อสร้างงานโยธาภายในกรอบวงเงินที่กำหนด และให้การรถไฟฯ จัดทำแผนการปฏิบัติงานและแผนการใช้จ่ายงบประมาณ เพื่อเสนอขอรับการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีตามความจำเป็นและเหมาะสมต่อไป
การเยือนประเทศไทยของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมมาเลเซียในครั้งนี้ ถือเป็นโอกาสสำคัญในการกระชับความร่วมมืมระหว่างไทยและมาเลเซีย ด้านการพัฒนาระบบราง โดยเฉพาะการเชื่อมต่อระบบขนส่งสินค้าผ่านแดน ขบวนรถสินค้าคอนเทรนเนอร์ เส้นทางชุมทางบ้านทุ่งโพธิ์ - ชุมทางหาดใหญ่ - ปาดังเบซาร์ 40 ขบวน/เดือน และขบวนรถโดยสารระหว่างประเทศด้วยขบวนรถไฟ "มายสวัสดี" เส้นทาง KL Sentral – สถานีชุมทางหาดใหญ่ - KL Sentral ในกรุงกัวลาลัมเปอร์ ซึ่งสามารถเชื่อมต่อเข้าสู่เมืองสำคัญของมาเลเซีย อาทิ ปาดังเบซาร์ และบัตเตอร์เวิร์ธ เพื่อเดินทางข้ามพรมแดนได้สะดวกและปลอดภัย ตอบโจทย์การขนส่งคนและสินค้าในระดับภูมิภาค และยังสอดคล้องกับเป้าหมายของทั้งสองประเทศในการก้าวสู่การเป็นศูนย์กลางโลจิสติกส์และเศรษฐกิจที่เชื่อมโยงกันอย่างไร้รอยต่อ