xs
xsm
sm
md
lg

ปภ.แนะวิธีเตรียมตัวขับรถช่วงหน้าร้อนอย่างปลอดภัย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) แนะผู้ขับรถช่วงฤดูร้อนให้ตรวจเช็กสภาพรถทุกครั้งก่อนออกเดินทาง ทั้งฟิมล์กรองแสง ยางรถยนต์ให้พร้อมใช้งาน ขณะขับรถให้ใช้ที่บังแดดหรือสวมแว่นกันแดดที่ได้มาตรฐานจะช่วยป้องกัน มิให้สายตาอ่อนล้า รวมทั้งไม่ขับรถติดต่อกันเป็นเวลานาน ควรจอดพักรถเพื่อให้ยางรถและเครื่องยนต์คลายความร้อน จะช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุทางถนน

นายภาสกร บุญญลักษม์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เผยว่า การขับรถในช่วงฤดูร้อนที่มีแสงแดดแรงจัด ทำให้ผู้ขับขี่สายตาพร่ามัว และมีอาการง่วงนอนง่ายกว่าปกติ ความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุทางถนน เพื่อความปลอดภัย กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ขอแนะวิธีผู้ขับขี่การขับรถช่วงฤดูร้อนอย่างปลอดภัย ดังนี้ ผู้ขับรถตรวจสภาพรถก่อนออกเดินทาง โดยเฉพาะยางรถยนต์ที่ต้องสัมผัสกับถนนที่ร้อนจัด มีความเสี่ยงต่อยางระเบิดได้ และเช็กฟิล์มกรองแสงให้อยู่ในสภาพพร้อมใช้งาน หากเนื้อฟิล์มเปลี่ยนสีให้เปลี่ยนฟิล์มกรองแสงใหม่ ซึ่งจะลดความร้อนสะท้อนแสงเข้ามาในรถ ขณะขับรถให้ใช้ที่บังแดดปิดลงมาที่กระจกหน้ารถเพื่อบังแสงแดดไม่ให้ส่องเข้าตา จะช่วยป้องกันมิให้สายตาอ่อนล้าและเกิดอาการง่วงนอน หรือสวมแว่นตากันแดดที่ได้มาตรฐาน ซึ่งสามารถกรองแสงได้อย่างน้อยร้อยละ 60 - 90 จะช่วยลดความสว่างของแสงอาทิตย์ ทำให้มองเห็นเส้นทางชัดเจนขึ้น อีกทั้งหลีกเลี่ยงการขับรถติดต่อกันเป็นเวลานาน ควรหยุดพักรถทุกระยะ 150 – 200 กิโลเมตร หรือทุกๆ 2 ชั่วโมง เพื่อให้เครื่องยนต์และยางคลายความร้อน รวมถึงผู้ขับขี่ได้ปรับเปลี่ยนอิริยาบถ
จะช่วยป้องกันการหลับในที่เป็นสาเหตุของการเกิดอุบัติเหตุ นอกจากนี้ ในระหว่างการขับขี่ ไม่ควรโฟกัสเฉพาะที่จุดใดจุดหนึ่งของถนน เพราะอาจทําให้เกิดภาพลวงตา (Mirage) เป็นภาพน้ำขังบนท้องถนน หากผู้ขับขี่ขับรถมาด้วยความเร็วและหักหลบแอ่งน้ำลวงตา อาจทําให้เกิดอุบัติเหตุได้ อีกทั้ง หากจอดรถตากแดดไว้เป็นเวลานาน ควรเปิดประตูและลดกระจกรถก่อนสตาร์ทเครื่องยนต์ เพื่อระบายความร้อนภายในรถช่วยให้รถยนต์เย็นเร็วขึ้น ไม่ปรับช่องลมเป่าใส่กระจกรถโดยตรงป้องกันอุปกรณ์ภายในรถได้รับความเสียหายจากอุณหภูมิที่เปลี่ยนแปลงกะทันหัน ทำให้การเดินทางในช่วงฤดูร้อนเป็นไปด้วยความปลอดภัย

ทั้งนี้ ประชาชนสามารถติดตามข่าวสารได้ที่ Facebook กรมป้องกันและบรรเทา สาธารณภัย X @DDPMNews Line @1784DDPM สามารถแจ้งและขอความช่วยเหลือ ทางไลน์ “ปภ.รับแจ้งเหตุ 1784” รวมถึงสายด่วนนิรภัย 1784 ตลอด 24 ชั่วโมง