นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า เดือนมีนาคม 2568 มีธุรกิจจัดตั้งใหม่ 7,432 ราย ลดลง 301 ราย (-3.89%) เมื่อเทียบกับเดือนมีนาคม 2567 (7,733 ราย) และทุนจดทะเบียนรวม 38,635 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 16,489 ล้านบาท (74.45%) โดยธุรกิจที่มีการจัดตั้งใหม่สูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ 1.ธุรกิจก่อสร้างอาคารทั่วไป 2.ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ 3.ธุรกิจภัตตาคาร/ร้านอาหาร
ทั้งนี้ ในเดือนมีนาคม 2568 มีธุรกิจที่มีทุนจดทะเบียนจัดตั้งเกิน 1,000 ล้านบาท จำนวน 4 ราย มูลค่าทุนจดทะเบียน รวมทั้งสิ้น 18,979 ล้านบาท ได้แก่ 1. บมจ.ไทยน้ำทิพย์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ทุนจดทะเบียน 11,024 ล้านบาท 2. บมจ.ฮ็อป อินน์ โฮเต็ล จำกัด (มหาชน) ทุนจดทะเบียน 3,575 ล้านบาท 3. บจ.คอมเปค เทคโนโลยี (ประเทศไทย) จำกัด ทุนจดทะเบียน 3,000 ล้านบาท และบจ.เจ็ม-เยียร์ อินดัสเทรียล จำกัด ทุนจดทะเบียน 1,380 ล้านบาท
การจัดตั้งใหม่ในช่วงไตรมาสแรกของปี 2568 มีจำนวน 23,823 ราย ลดลง 1,180 ราย (-4.72%) ทุนจดทะเบียน 79,920 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 11,980 ล้านบาท (17.63 %)
การจดทะเบียนเลิกประกอบกิจการเดือนมีนาคม 2568 มีจำนวน 889 ราย ลดลง 22 ราย (-2.41%) เมื่อเทียบกับเดือนมีนาคม 2567 (911 ราย) ได้แก่ 1.ธุรกิจก่อสร้างอาคารทั่วไป 2. ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ และ 3. ธุรกิจภัตตาคาร/ร้านอาหาร
การจดทะเบียนเลิกไตรมาสแรกของปี 2568 (มกราคม-มีนาคม 2568) มีจำนวน 3,107 ราย เพิ่มขึ้น 298 ราย (10.61%) ทุนจดทะเบียนเลิกสะสมอยู่ที่ 11,859 ล้านบาท ลดลง 85 ล้านบาท (-0.71%) เมื่อเทียบกับไตรมาส 1/2567
ปัจจุบัน (ข้อมูล ณ วันที่ 31 มีนาคม 2568) มีธุรกิจที่จดทะเบียนนิติบุคคลรวมทั้งสิ้น 1,988,655 ราย ทุนจดทะเบียนรวม 30.49 ล้านล้านบาท โดยมีนิติบุคคลดำเนินกิจการอยู่ 942,367 ราย ทุนจดทะเบียนรวม 22.24 ล้านล้านบาท
หากวิเคราะห์ตัวเลขการจดทะเบียนในไตรมาสแรกของปี 2568 ที่พบว่าการจดทะเบียนจัดตั้งมีจำนวนที่ลดลงเล็กน้อย อาจสืบเนื่องมาจากปัจจัยทางจิตวิทยาที่นักลงทุนรอดูสถานการณ์สงครามการค้าระหว่างประเทศ และนโยบายภาษีต่างตอบแทนของสหรัฐอเมริกา (Reciprocal Tariffs) ที่จะชี้ทิศทางของการค้าและเศรษฐกิจโลกประกอบกับกังวลว่าถ้าจัดตั้งธุรกิจในช่วงนี้อาจต้องเผชิญความท้าทายและความเสี่ยงในการบริหารธุรกิจ รวมไปถึงปัจจัยความเข้มงวดในการปราบปรามธุรกิจนอมินีหรือธุรกิจทุนสีเทาของกระทรวงพาณิชย์ที่จะทำให้ธุรกิจต้องมีความรัดกุมมากขึ้นในการเตรียมความพร้อมก่อนการจดทะเบียนจัดตั้งบริษัท ทั้งนี้ อัตราส่วนการจัดตั้งธุรกิจต่อการจดเลิกในไตรมาสแรกของปี 2568 ยังคงอยู่ที่ 7:1 หรือตั้ง 7 ราย เลิก 1 ราย
การลงทุนของชาวต่างชาติไตรมาสแรกของปี 2568 (มกราคม-มีนาคม 2568) มีจำนวน 272 ราย โดยเป็นการลงทุนผ่านช่องทางการขอรับใบอนุญาตประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว 67 ราย และการขอหนังสือรับรองการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว (ผ่านช่องทางการลงทุนตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมการลงทุน หรือได้รับอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และการใช้สิทธิตามสนธิสัญญาหรือความตกลงระหว่างประเทศ) 205 ราย เงินลงทุนรวมทั้งสิ้น 47,033 ล้านบาท โดยการอนุญาตฯ ในไตรมาสแรกของปี 2568 (มกราคม-มีนาคม 2568) มีจำนวนเพิ่มขึ้นจำนวน 94 ราย (53%) เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2567 และมูลค่าการลงทุนเพิ่มขึ้น 11,131 ล้านบาท (31%) อย่างไรก็ดี ชาวต่างชาติที่เข้ามาลงทุนประกอบธุรกิจในประเทศไทยสูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่
- ญี่ปุ่น 57 ราย เงินลงทุน 15,915 ล้านบาท
- สหรัฐอเมริกา 35 ราย เงินลงทุน 1,490 ล้านบาท
- จีน 34 ราย เงินลงทุน 6,083 ล้านบาท
- สิงคโปร์ 31 ราย เงินลงทุน 4,950 ล้านบาท
- ฮ่องกง 22 ราย เงินลงทุน 3,655 ล้านบาท
กรมพัฒนาธุรกิจการค้า ได้วิเคราะห์ธุรกิจที่มีแนวโน้มการเติบโตที่น่าสนใจในเดือนมีนาคม 2568 พบว่า ตลอด 3 ปีที่ผ่านมา (ปี 2565-2567) ธุรกิจขนส่งทางอากาศมีแนวโน้มขยายตัวด้านรายได้และกำไร แบ่งเป็น การขนส่งผู้โดยสารทางอากาศ และการขนส่งสินค้าทางอากาศ ซึ่งการเติบโตเป็นผลสืบเนื่องมาจากปัจจัยต่างๆ ได้แก่ การฟื้นตัวของธุรกิจกลุ่มนี้ภายหลังจากช่วงการชะลอตัวของสถานการณ์โควิด-19 การยกเว้นวีซ่าในหลายประเทศ การท่องเที่ยวที่ฟื้นตัว และตลาด e-Commerce ที่คึกคัก โดยเฉพาะในประเทศไทยปี 2567 มีจำนวนผู้โดยสารเดินทางทางอากาศ 141 ล้านคน เพิ่มขึ้น 16% จากปี 2566 และมีเที่ยวบิน 886,438 เที่ยวบิน เพิ่มขึ้น 12% เมื่อเทียบกับปี 2566 และปริมาณการขนส่งสินค้าทางอากาศอยู่ที่ 1.51 ล้านตัน เพิ่มขึ้นกว่า 22%