ร.ต.อ.สุรวุฒิ รังไสย์ รองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ และในฐานะหัวหน้าคณะพนักงานสอบสวนคดีพิเศษ นำทีมควบคุมตัวเองนายชวนหลิง จาง (Mr.Chuanling Zhang) สัญชาติจีน กรรมการผู้ถือหุ้น 49% ของบริษัท ไชน่า เรลเวย์ นัมเบอร์ 10 (ประเทศไทย) จำกัด ผู้ก่อสร้างอาคารสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินที่ถล่มไปขอศาลอาญา ถนนรัชดาภิเษก เพื่อฝากขังผัดแรก หลังถูกจับที่โรงแรมหรูย่านรัชดาภิเษก เมื่อวันที่ 20 เมษายนที่ผ่านมา ตามหมายจับศาลอาญา และคดีพิเศษ ในข้อหาเป็นคนต่างด้าวที่ประกอบธุรกิจซึ่งต้องห้ามมิให้คนต่างด้าวประกอบกิจการ หรือต้องได้รับอนุญาตก่อน และเป็นนิติบุคคลซึ่งรู้เห็นเป็นใจกับการกระทำความผิดนั้น ตาม พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ.2542 และถูกสอบสวนเข้มนาน โดยนายจาง ปฏิเสธข้อหาระบุไม่ได้มีการให้ใครมาถือหุ้นแทน พร้อมชี้แจงด้วยว่าเป็นผู้แทนรัฐวิสาหกิจของประเทศจีน ลักษณะเป็นนักลงทุนของประเทศจีน มาลงทุนในไทยในนามรัฐบาลจีน เป็นแค่ฝ่ายบริหารที่ถูกส่งมาบริหารบริษัทในไทยเท่านั้น
ภายหลังเดินทางมาถึงศาลอาญา นายชวนหลิง จาง มีสีหน้านิ่งเฉย ปฏิเสธที่จะตอบคำถามว่ามีส่วนเกี่ยวข้องได้ว่าจ้างคนไทย 3 คน ให้มาเป็นนอมินีจัดตั้งบริษัทจริงหรือไม่ ทั้งนี้ หลังการสวบสวนเข้มนานหลายชั่วโมง การสอบสวนยังไม่แล้วเสร็จ เนื่องจากดีเอสไอมองว่าคดีมีผลกระทบกว้างและเป็นคนต่างชาติ เกรงว่าจะหลบหนี ดังนั้นเมื่อศาลให้หมายจับ จึงให้ศาลเป็นผู้พิจารณาว่าจะให้ประกันตัวหรือไม่
ขณะที่ พ.ต.ต.วรณัน ศรีล้ำ ผู้อำนวยการกองคดีคุ้มครองผู้บริโภค ในฐานะโฆษกกรมสอบสวนคดีพิเศษ เปิดเผยว่า จากการสอบปากคำ ผู้ต้องหาให้การปฏิเสธ ยืนยันว่าเป็นเจ้าหน้าที่รัฐวิสาหกิจของจีนจริงๆ ที่ถูกส่งมาลงทุนในไทยในนามรัฐบาลจีน ถือหุ้นในบริษัท 49% ส่วนที่คนไทยถือหุ้นนั้นไม่ทราบรายละเอียด ให้การเพียงส่วนที่เกี่ยวข้องกับตัวเอง แต่ยอมรับว่ารู้จักกรรมการคนไทยทั้ง 3 คน แต่ไม่ให้การเกี่ยวกับการจ้างคนไทยเป็นนอมินีหรือไม่ ส่วนรายละเอียดอื่นๆ ไม่ขอเปิดเผย เนื่องจากเป็นรายละเอียดในสำนวน
จากการสอบปากคำมีจุดเชื่อมต่อที่เจ้าหน้าที่ต้องเร่งไปขยายผลพอสมควร รวมถึงประเด็นกรรมการคนไทยไปกู้ยืมเงิน 2,000 ล้านบาท กับคนจีนด้วยว่าแหล่งเงินดังกล่าวมาจากที่ใด ซึ่งดีเอสไอกำลังอยู่ระหว่างไล่ดูเส้นทางการเงินของกรรมการคนไทยทั้ง 3 คน ซึ่งก็พบว่าทั้ง 3 คน ไม่ได้มีสถานะทางการเงินเพียงพอจะดำเนินธุรกิจ หรือมีความเชี่ยวชาญในวิชาชีพนี้โดยตรง
ส่วนการติดตามจับกุมกรรมการคนไทยทั้ง 3 คนนั้น ดีเอสไอมีเบาะแสที่เชื่อว่ายังอยู่ในประเทศไทย อยู่ระหว่างเร่งติดตามจับกุมตัว พร้อมระบุว่าจริงๆ แล้ว ดีเอสไอเพียงต้องการให้ทั้ง 3 คนเข้าให้ข้อมูล เพราะต้องการทราบว่าทั้ง 3 คน ทำหน้าที่อะไรในบริษัท เพื่อจะต่อภาพทั้งหมดให้สมบูรณ์ แต่เมื่อเจ้าตัวไม่มีใครมาแสดงตัว และข้อเท็จจริงเพียงพอให้ออกหมายจับ ดีเอสไอต้องขอศาลออกหมายจับเพื่อนำตัวทั้ง 3 คน มาซักถามข้อมูล ทั้งนี้ดีเอสไอเป็นระบบฟังความสองฝ่าย พยานหลักฐานที่ได้จากผู้กล่าวหาในชั้นกล่าวหา ก็เป็นหลักฐานพอที่จะสามารถนำไปออกหมายจับได้ หลังจากนั้นดีเอสไอก็จะรับฟังความและพยานหลักฐานจากผู้ถูกกล่าวหาเช่นกัน ว่าจะมีคำอธิบายหรือหลักฐานอย่างไรมาหักล้างคำกล่าวหาหรือไม่ หากหักล้างได้ ก็สั่งไม่ฟ้อง แต่หากหักล้างไม่ได้ก็ต้องฟ้อง
ส่วนจะมีการออกหมายจับบุคคลใดเพิ่มเติมหรือไม่ ดีเอสไออยู่ระหว่างขยายผล ซึ่งในช่วงนี้ดีเอสไอก็มีการเรียกสอบปากคำพยานในทุกวัน และในวันนี้ก็มีอธิบดีกรมโยธาธิการฯ เข้าให้ข้อมูลเกี่ยวกับวิศวกรรมและข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้อง
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากการสอบปากคำเบื้องต้น นายชวนหลิง จาง ยืนยันว่าทางรัฐวิสาหกิจจีนได้อนุมัติเงินเยียวยาผู้เสียหายและผู้ได้รับผลกระทบจากอาคาร สตง.ใหม่ถล่ม ประมาณ 120 ล้านบาท อยู่ระหว่างจะประสานกระทรวงยุติธรรม ในการส่งมอบเงิน ทั้งนี้ทางดีเอสไอไม่ได้ยื่นคัดค้านประกันตัว เนื่องจากอัตราโทษ จำคุกไม่ถึง 10 ปี และในวันนี้ทางทนายความของนายชวนหลิง จาง และตัวแทนบริษัทบริษัท ไชน่า เรลเวย์ ฯ ได้เตรียมหลักทรัพย์เงินสดประมาณ 1 ล้านบาท ในการยื่นขอประกันตัวชั่วคราว ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างรอศาลพิจารณา