นายนพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการสำนักวิจัย ซูเปอร์โพล เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชน เรื่อง "สังคม เศรษฐกิจ และการเมือง ในสายตาของประชาชน" กรณีศึกษาตัวอย่างประชาชนทุกสาขาอาชีพทั่วประเทศ ดำเนินโครงการทั้งการวิจัยเชิงปริมาณ และการวิจัยเชิงคุณภาพ รวมจำนวนตัวอย่างในการวิเคราะห์ทางสถิติทั้งสิ้น 1,215 ราย ดำเนินโครงการระหว่างวันที่ 15 – 19 เม.ย. 2568 ที่ผ่านมา
นายนพดล กล่าวว่า ดัชนีความสุขคนไทยหลังสงกรานต์พบว่า จำนวนมากหรือร้อยละ 40.7 กลับมารู้สึกทุกข์เหมือนเดิม ถึงทุกข์มากขึ้นเพราะเศรษฐกิจไม่ดี ไม่มีงานทำ สุขภาพไม่ดี มีปัญหาครอบครัว ยาเสพติด มลพิษ ความวุ่นวายการเมือง และความไม่ปลอดภัย ในขณะที่ ร้อยละ 24.8 รู้สึกกลางๆ ไม่สุข ไม่ทุกข์ เพราะไม่เห็นมีอะไรดี ทรงๆ มีขึ้นๆ ลงๆ ยังมองไม่ออกว่าจะเป็นอย่างไร เป็นต้น และร้อยละ 34.5 มีความสุข เหมือนเดิม ถึงเพิ่มขึ้ เพราะความสัมพันธ์ที่ดีในครอบครัว การงานอาชีพดี ความสัมพันธ์ของคนในชุมชน เพื่อนดีเป็นกัลยาณมิตร ทำบุญเข้าวัด สมาธิวิปัสสนา เป็นต้น สะท้อนว่าแม้วันหยุดเทศกาลสงกรานต์จะช่วยฟื้นฟูจิตใจบางส่วน แต่ความทุกข์จากปัญหาโครงสร้างเศรษฐกิจและสังคมยังคงหนักหน่วงในมุมมองประชาชน
ที่น่าพิจารณาคือ เมื่อสอบถามถึงความรู้สึกปลอดภัย และรู้สึกตื่นตกใจต่อคนหรือเจ้าหน้าที่รัฐติดอาวุธ พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 68.2 รู้สึก ตกใจ และไม่เชื่อมั่น ต่อเจ้าหน้าที่รัฐ เมื่อเห็นกลุ่มคน ขบวนการออกมาคุกคามประชาชนและก่อความไม่สงบในที่สาธารณะ อย่างไรก็ตาม ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 62.4 รู้สึก "ปลอดภัย" รู้สึกอุ่นใจ เมื่อเห็น "ตำรวจ" ออกตรวจตรา หรืออยู่ในที่เกิดเหตุ ร้อยละ 60.5 รู้สึก เชื่อมั่น เมื่อเห็นเจ้าหน้าที่รัฐออกมาชี้แจงข้อสงสัยได้ดีมีเยียวยาความเสียหาย ร้อยละ 57.8 รู้สึก ปลอดภัย สบายใจ เมื่อมีเจ้าหน้าที่รัฐออกให้บริการอำนวยความยุติธรรม และร้อยละ 54.1 รู้สึก ตื่นตกใจ เมื่อเห็นทหาร หรือ คนแต่งกายคล้ายเจ้าหน้าที่รัฐออกมาถืออาวุธ สิ่งนี้ชี้ให้เห็นว่า "ศรัทธา" ของประชาชนต่อรัฐ ไม่ได้ขึ้นกับอาวุธหรืออำนาจ แต่ขึ้นอยู่กับ "พฤติกรรมของเจ้าหน้าที่รัฐ" และ "การสื่อสาร" มากกว่า
อย่างไรก็ดี ผลสำรวจสะท้อนด้วยว่า "ตำรวจ" ยังเป็นสัญลักษณ์ของความหวังและความมั่นใจในระดับปฏิบัติการจริง โดยเฉพาะเมื่อตำรวจทำหน้าที่เชิง "ผู้พิทักษ์" ที่ให้บริการประชาชนอย่างใกล้ชิด
นายนพดล กล่าวอีกว่า ที่น่าเป็นห่วงคือเมื่อสอบถามถึงความหวาดกลัวต่อภัยเศรษฐกิจพบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 81.9 กลัวเงินไม่พอใช้ กลัวเศรษฐกิจแย่ ข้าวของราคาแพง ค้าขายไม่ดี ร้อยละ 75.2 กลัวเงินออม เงินเก็บ ลดลง กลัวเงินหมด ร้อยละ 62.2 กลัวนโยบายรัฐบาลทำไม่ได้จริง กลัวนโยบายรัฐมีผลต่อเงินในกระเป๋า ร้อยละ 61.8 กลัวสงครามการค้าโลก กลัวราคาน้ำมันพุ่ง กลัวภาษี และร้อยละ 53.5 กลัวตกงาน กลัวถูกลดเงินเดือน กลัวถูกลดชั่วโมงทำงาน ตามลำดับ ข้อมูลนี้สะท้อนให้เห็นว่า ปัญหาเชิงปากท้อง ยังเป็นความกังวลอันดับหนึ่งที่ประชาชนสัมผัสได้ชัดเจนที่สุด นี่ไม่ใช่แค่เศรษฐกิจภาพใหญ่ แต่คือความทุกข์ของชีวิตประจำวันที่เกิดขึ้นจริงในตลาดสด ที่ทำงาน และที่บ้าน นอกจากนี้ ยังสะท้อน "ความรู้สึกไม่มั่นคงทางการเงิน" ที่กำลังลามจากภาวะเงินไม่พอใช้ ไปสู่ความกลัวว่าจะไม่มี "กันชน" ป้องกันตนเองในอนาคต แสดงให้เห็นว่า ประชาชนกำลังเข้าสู่ "โหมดของการเอาตัวรอด" มากกว่า "การลงทุนเพื่อชีวิต" ดังนั้น การปรับตัวของประชาชน การออกนโยบายรัฐบาลใหม่ ๆ และเศรษฐกิจระหว่างประเทศจึงเป็นกลไกสำคัญในการฟื้นศรัทธาและลดความหวาดกลัวต่อภัยเศรษฐกิจของประชาชน
นายนพดล กล่าวต่อว่า ที่น่าสนใจคือ ความนิยมต่อ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ผลสำรวจของซูเปอร์โพล พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 60.3 เชื่อมั่นมากถึงมากที่สุดต่อนายกฯ เพราะนโยบายตอบโจทย์ช่วยเหลือคนรายได้น้อย แก้ปัญหาเศรษฐกิจ เป็นผู้หญิงคนรุ่นใหม่ เก่ง ทำงานเร็ว ได้บารมีจากพ่อ ภาพลักษณ์ส่วนตัว รักครอบครัว ดูดีมีสง่า คิดอ่านพูดทันสมัย สื่อสารตรงประชาชน และปรับตัวเก่ง เป็นต้น ในขณะที่ ร้อยละ 24.8 เชื่อมั่นน้อยถึงไม่เชื่อมั่นเลย เพราะขาดประสบการณ์ เป็นเครือข่ายตระกูลการเมือง ยังไม่เห็นผลงานชัดเจน มีหลุดอารมณ์ดูไม่ดี กังวลผลของนโยบายบางอย่าง ยังไม่เด็ดขาด และเห็นแก่พวกพ้อง เป็นต้น และร้อยละ 14.9 ไม่มีความเห็น
ผลสำรวจนี้สะท้อนให้เห็นว่า น.ส.แพทองธาร ได้รับแรงสนับสนุนในระดับที่มั่นคง แต่ไม่ใช่ไร้ข้อท้าทาย โดยเฉพาะจากกลุ่มที่เฝ้าจับตามองด้วยความระแวดระวัง ปัจจัยสนับสนุนความเชื่อมั่น: ผู้นำรุ่นใหม่ ผู้หญิงเก่ง และสื่อสารตรงใจประชาชน เหตุผลที่ทำให้ประชาชนส่วนใหญ่เชื่อมั่น ได้แก่ ภาพลักษณ์ของ "คนรุ่นใหม่" ที่เก่ง ทำงานเร็ว และพูดจาทันสมัย เป็น "ผู้หญิง" ที่สะท้อนความนุ่มนวลและเข้าถึงได้ ในขณะที่ยังแสดงออกถึงความสามารถ นโยบายที่ประชาชนมองว่า "ตอบโจทย์คนรายได้น้อย" และ "ช่วยเศรษฐกิจฐานราก" การสื่อสารที่ "ตรงไปตรงมา" และการปรับตัวเก่งในสถานการณ์ใหม่ๆ นี่คือ สูตรผสมระหว่างภาพลักษณ์กับเนื้อหาทางนโยบาย ที่ทำให้เธอกลายเป็น "ความหวังใหม่" ของประชาชนในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของประเทศ