นายชวลิต กันคำ ผู้ช่วยผู้ว่าการผลิตไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เปิดเผยถึงสถานการณ์แผ่นดินไหวศูนย์กลางประเทศเมียนมา ซึ่งส่งผลกระทบต่ออาคารบ้านเรือนประชาชนในหลายจังหวัด รวมถึงประชาชนมีความกังวลถึงความปลอดภัยของเขื่อนขนาดใหญ่ ซึ่ง กฟผ.ขอให้ความมั่นใจว่าเขื่อนภายใต้การดูแลของ กฟผ. ถูกออกแบบเพื่อรองรับเหตุแผ่นดินไหวไว้แล้ว อีกทั้งยังมีการตรวจสอบ ติดตามและเฝ้าระวังความมั่นคงปลอดภัยผ่านเครื่องมือวัดพฤติกรรมเขื่อนตามมาตรฐานสากล ซึ่งพบว่าทุกเขื่อนใหญ่ของ กฟผ. ไม่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ดังกล่าว และสามารถทำหน้าที่เก็บกักน้ำ เพื่อการอุปโภค บริโภค การเกษตรและด้านการผลิตไฟฟ้าได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ
เขื่อนใหญ่ของ กฟผ. ถูกออกแบบให้สามารถรองรับแผ่นดินไหวที่อัตราเร่ง 0.1-0.2 g ซึ่งเหตุแผ่นดินไหวที่ประเทศเมียนมา เขื่อนสิริกิติ์ จ.อุตรดิตถ์ ซึ่งอยู่ห่างจากศูนย์กลางแผ่นดินไหวประมาณ 546.36 กิโลเมตร ตรวจวัดอัตราเร่งได้ 0.00074g, เขื่อนภูมิพล จ.ตาก ซึ่งอยู่ห่างจากจุดศูนย์กลางแผ่นดินไหวประมาณ 482.82 กิโลเมตร ตรวจวัดอัตราเร่งได้ 0.00457g, เขื่อนในจังหวัดกาญจนบุรี ได้แก่ เขื่อนศรีนครินทร์ ซึ่งอยู่ห่างจากจุดศูนย์กลางแผ่นดินไหวประมาณ 820 กิโลเมตร ตรวจวัดอัตราเร่งได้ 0.00473g , เขื่อนวชิราลงกรณ ซึ่งอยู่ห่างจากจุดศูนย์กลางแผ่นดินไหวประมาน 809.8 กิโลเมตร ตรวจวัดอัตราเร่งได้ 0.02590g
นอกจากนี้ เขื่อนและอ่างเก็บน้ำของ กฟผ. ได้ดำเนินงานด้านความมั่นคงปลอดภัยของเขื่อนและอ่างเก็บน้ำ ตามแนวทางองค์การเขื่อนใหญ่ระหว่างชาติ (International Commission on Large Dams : ICOLD) โดยมีข้อกำหนดในการตรวจสอบและประเมินความปลอดภัยของเขื่อน 3 ระยะ ด้วยกันคือ
- การตรวจสอบแบบประจำ โดยจัดให้มีเจ้าหน้าที่รับผิดชอบการตรวจสอบเขื่อนและอาคารประกอบด้วยสายตาและติดตามตรวจวัดข้อมูลจากเครื่องมือตรวจวัดพฤติกรรมเขื่อนเป็นประจำทุกสัปดาห์
- การตรวจสอบแบบเป็นทางการ มีคณะกรรมการตรวจสอบและประเมินความปลอดภัยของเขื่อน (กปข.) ดำเนินการตรวจสอบและประเมินความมั่นคงแข็งแรงของเขื่อน อ่างเก็บน้ำ และอาคารประกอบในส่วนที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงและปลอดภัยของเขื่อน ทุก 2 ปี
- การตรวจสอบกรณีพิเศษ ในกรณีที่เกิดเหตุการณ์ผิดปกติใดๆ ซึ่งอาจจะส่งผลกระทบต่อความมั่นคงและปลอดภัยของเขื่อนและอาคารประกอบ เช่น กรณีเกิดแผ่นดินไหวรุนแรง มีฝนตกหนักมาก เกิดน้ำหลากทำให้ระดับน้ำในอ่างเก็บน้ำเปลี่ยนแปลงเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว เป็นต้น