xs
xsm
sm
md
lg

DSI ค้น 4 จุดขยายผลคดีนอมินี"ไชน่า เรลเวย์ฯ"ตึก สตง.ถล่ม

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ภายหลังกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) รับคดีนอมินี หรือความผิดตาม พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ. 2542 บริษัท ไชน่า เรลเวย์ นัมเบอร์ 10 (ประเทศไทย) จำกัด บริษัทผู้ก่อสร้างที่ทำการสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (อาคาร สตง.) แห่งใหม่ ความสูง 30 ชั้น ถล่มจากเหตุแผ่นดินไหว เป็นคดีพิเศษ

ล่าสุด พ.ต.ต.วรณัน ศรีล้ำ ผอ.กองคดีคุ้มครองผู้บริโภค ในฐานะรองหัวหน้าคณะพนักงานสอบสวนคดีนอมินี บ.ไชน่า เรลเวย์ฯ เปิดเผยความคืบหน้าว่า เรื่องสัญญา 4 ฉบับ ที่ดีเอสไออยู่ระหว่างตรวจสอบข้อเท็จจริง ประกอบด้วย 1.สัญญาการออกแบบโครงสร้าง (ซึ่งกรมโยธาธิการและผังเมือง ไม่ได้เป็นผู้ออกแบบ แต่มีบริษัทเอกชนเป็นผู้ออกแบบ) 2.สัญญาควบคุมงาน 3.สัญญาการก่อสร้าง และ 4.สัญญาการเปลี่ยนแบบ หรือสัญญาขอแก้ไขเพิ่มเติมแบบ ซึ่งอาจเป็นส่วนควบของสัญญาก่อสร้าง และสัญญาการออกแบบโครงสร้างก็ได้ เนื่องจากมีการแก้แบบระหว่างทาง เพราะการแก้ไขแบบก็ต้องให้คนออกแบบเป็นผู้อนุมัติ ดังนั้น บริษัทที่เกี่ยวข้องจะเป็นบริษัทผู้ออกแบบ คือ บริษัท ฟอ-รัม อาร์คิเทค และบริษัท ไมนฮาร์ท (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งตามขั้นตอนแล้ว มันต้องเริ่มตั้งแต่ผู้รับเหมา เสนอไปที่ผู้ควบคุมงาน จากนั้นหากผู้ควบคุมงานเห็นด้วย ก็เสนอไปยังผู้ออกแบบว่าอนุมัติหรือไม่ หากผู้ออกแบบอนุมัติว่าทำแล้วไม่กระทบกับโครงสร้างก็เสนอไปยังคณะกรรมการเพื่อตรวจการจ้างฯ ทั้งนี้ ส่วนการออกแบบและการแก้ไขแบบจะต้องมีผู้แทนของ สตง. อนุมัติหรือไม่นั้น ทราบว่าจะมีคณะกรรมการบริหารเรื่องสัญญาจ้างอยู่ แต่ตามหลักการแล้ว อะไรที่รัฐเซ็นไปแล้ว รัฐต้องได้ประโยชน์

พ.ต.ต.วรณัน เผยอีกว่า ดีเอสไอได้ดำเนินการเป็นคดีพิเศษ 2 ฐานความผิดภายใต้เลขคดีพิเศษที่ 32/2568 ได้แก่ พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ. 2542 บริษัท ไชน่า เรลเวย์ นัมเบอร์ 10 (ประเทศไทย) จำกัด และความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542 มาตรา 7 (ผู้ใดใช้อุบายหลอกลวง หรือกระทำการโดยวิธีอื่นใดเป็นเหตุให้ผู้อื่นไม่มีโออกาสเข้าทำการเสนอราคาอย่างเป็นธรรมหรือให้มีการเสนอราคาโดยหลงผิด ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 1 ปี – 5 ปี และปรับร้อยละห้าสิบของจำนวนเงินที่มีการเสนอราคาสูงสุดระหว่างผู้ร่วมกระทำความผิดนั้นหรือของจำนวนเงินที่มีการทำสัญญากับหน่วยงานของรัฐแล้วแต่จำนวนใดจะสูงกว่า) และมาตรา 8 (ผู้ใดโดยทุจริตทำการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐโดยรู้ว่าราคาที่เสนอนั้นต่ำมากเกินกว่าปกติจนเห็นได้ชัดว่าไม่เป็นไปตามลักษณะสินค้าหรือบริการ หรือเสนอผลประโยชน์ตอบแทนให้แก่หน่วยงานของรัฐสูงกว่าความเป็นจริงตามสิทธิที่จะได้รับ โดยมีวัตถุประสงค์เป็นการกีดกันการแข่งขันราคาอย่างเป็นธรรมและการกระทำเช่นว่านั้นเป็นเหตุให้ไม่สามารถปฏิบัติให้ถูกต้องตามสัญญาได้ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 1 ปี – 3 ปี และปรับร้อยละห้าสิบของจำนวนเงินที่มีการเสนอราคา หรือของจำนวนเงินที่มีการทำสัญญากับหน่วยงานของรัฐแล้วแต่จำนวนใดจะสูงกว่า) เนื่องจากต้องดูว่ามีการใช้กลอุบายจนได้สัญญามาหรือไม่ ซึ่งการฮั้วประมูลมีหลายมิติ มิใช่ว่าต้องเป็นเอกชนมาฮั้วกันเท่านั้น แต่ถ้าเป็นการแข่งขันโดยใช้กลอุบาย แล้วทำให้ได้มาซึ่งสัญญา ตรงนี้ก็เป็นความผิดฮั้วได้ มันมีองค์ประกอบที่ต้องพิจารณาทุกมิติ ส่วนเรื่องฝุ่นแดง ยังอยู่ระหว่างกระบวนการของดีเอสไอในการออกเลขสืบสวนคดีพิเศษ เพราะทางกรมโรงงานอุตสาหกรรมได้ขอความอนุเคราะห์ดีเอสไอร่วมสืบสวนด้วย ขณะที่เรื่องเหล็กตกมาตรฐาน ทราบว่าทางสำนักงานผลิตภัณฑ์มาตรฐานอุตสาหกรรม (สมอ.) นำเหล็กไปตรวจสอบแล้ว หากพบความผิดใด ทาง สมอ.จะเป็นผู้มาร้องทุกข์กล่าวโทษกับดีเอสไอต่อไป

พ.ต.ต.วรณัน เผยด้วยว่า สำหรับประเด็นบทบาทของนายพิมล เจริญยิ่ง อายุ 85 ปี ที่ รมว.ยุติธรรม ให้สัมภาษณ์ว่า เป็นรายชื่อผู้ออกแบบที่เซ็นทราบว่าเจ้าตัวมีชื่อเป็นผู้ออกแบบ ขณะที่นายสมเกียรติ ชูแสงสุข เป็นคนที่มีชื่อเป็นคนขอแก้ไขแบบในฐานะผู้ควบคุมงาน ซึ่งทั้งคู่เป็นคนละขั้นตอนกัน ดังนั้น คนที่ไปปลอมลายเซ็นชื่อ แอบอ้างชื่อนายสมเกียรติ คือใครนั้น ดีเอสไออยู่ระหว่างการขยายผล ทั้งนี้ ใจความสำคัญที่เรายึดเป็นแกนกลาง คือ ตึก สตง. แห่งใหม่นี้ สตง. มีความต้องการสร้าง จึงประสงค์ให้กรมโยธาธิการและผังเมืองเป็นผู้ออกแบบให้ แต่ด้วยกรอบเวลา 180 วัน กรมโยธาธิการและผังเมืองไม่สามารถออกแบบได้ทัน จึงเป็นสิทธิ์ของ สตง. ที่จะจ้างบริษัทเอกชน ทำให้เราเห็นว่าในกระบวนการต่าง ๆ ของการก่อสร้างตึก สตง. มีวิศวกรเข้ามาเกี่ยวข้องกี่รายกันแน่ และเป็นใครบ้าง

พ.ต.ต.วรณัน เผยด้วยว่า วานนี้ (16 เม.ย.) ทางดีเอสไอได้ประสานไปยังนายพิมล เจริญยิ่ง เพื่อขอความร่วมมือเข้าให้ข้อมูลอันเป็นประโยชน์ให้ข้อเท็จจริง ส่วนเจ้าตัวจะตอบรับอย่างไรนั้น จะแจ้งให้ทราบอีกครั้ง อย่างไรก็ตาม ตนมองว่าเพราะเรื่องนี้ประเทศชาติเสียหาย ดังนั้น รายละเอียดที่จะใช้ในการสอบถามจะต้องเป็นประเด็นสำคัญ เพราะจะเป็นอีกหนึ่งจิ๊กซอว์ที่มาใช้ต่อกับภาพอื่นในคดีได้ด้วย นอกจากนี้ หากดีเอสไอรวบรวมพยานหลักฐานจนเห็นความเกี่ยวข้องว่าใครเข้ามาเกี่ยวข้องช่วงใดของงานบ้าง เกี่ยวข้องอย่างไร จึงจะเริ่มมีการออกหมายเรียกพยานนิติบุคคลต่าง ๆ เข้าให้ข้อมูลคดี

ทั้งนี้ มีรายงานเพิ่มเติมจากคณะพนักงานสอบสวนคดีพิเศษว่า วันนี้ดีเอสไอได้มีการรวบรวมพยานหลักฐานขอศาลาอาญารัชดาภิเษกออกหมายค้นพื้นที่เป้าหมาย 4 จุด ได้แก่ 1.สำนักงานใหญ่ของนายบินลิง วู 2.บริษัท พี เอ็น ซิงค์โครไนซ์ จำกัด 3.บริษัท ว และสหายคอลซัลแตนตส์ จำกัด และ 4.บริษัท เคพี คอลซัลแทนส์ จำกัด เพื่อตรวจค้นและตรวจยึดพยานเอกสาร พยานวัตถุที่เกี่ยวข้องในคดีที่ดีเอสไอรับเป็นคดีพิเศษ คือ คดีพิเศษที่ 32/2568 หรือคดีนอมินี บริษัท ไชน่า เรลเวย์ นัมเบอร์ 10 (ประเทศไทย) จำกัด

ขณะที่ดีเอสไอมีหมายเรียกพยานมาให้ข้อมูลตั้งแต่วันที่ 18 เม.ย.68 – 15 พ.ค.68 แบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม ประกอบด้วย

1. กลุ่มผู้รับงานก่อสร้างและผู้เกี่ยวข้อง 7 ราย คือ บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) , บริษัท ไชน่า เรลเวย์ นัมเบอร์ 10 (ประเทศไทย) จำกัด , นายเวนจี้ ลู , นายบินลิง วู , นายโสภณ มีชัย , นายประจวบ ศิริเขตร , นายมานัส ศรีอนันท์

2. กลุ่มผู้ทำบัญชีและตรวจสอบบัญชี 6 ราย คือ น.ส.ศุทธวีร์ (สงวนนามสกุล) , น.ส.ธีรดา (สงวนนามสกุล) , น.ส.มณีรัตน์ (สงวนนามสกุล) , นายนครินทร์ (สงวนนามสกุล) , นายวรพจน์ (สงวนนามสกุล), น.ส.พิชญพร (สงวนนามสกุล)

3. กลุ่มผู้เสนอราคา (ไม่รวมกิจการร่วมค้า ITD) 6 ราย คือ บริษัท อาคาร 33 จำกัด , บริษัท กิจการร่วมค้า ยูเวิร์คนีโอแอนด์มาร์ชเทน จำกัด , บริษัท คริสเตียนีและนีลเส็น (ไทย) จำกัด (มหาชน) , บริษัท เพาเวอร์ไลน์ เอ็นจิเนียริ่ง (จำกัด) มหาชน , บริษัท เอ็นเเอล ดีเวลลอปเมนต์ จำกัด (มหาชน) และ กิจการร่วมค้าวรเรียล