นายภาสกร บุญญลักษม์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เป็นประธานการประชุมหารือแนวทางการแจ้งข้อมูลของส่วนราชการและการสร้างการรับรู้แก่ประชาชน กรณีเกิดแผ่นดินไหวและสาธารณภัยอื่น โดยมีผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการกำหนดเกณฑ์การแจ้งเตือนภัย ได้แก่ กรมอุตุนิยมวิทยา กรมทรัพยากรธรณี กรมทรัพยากรน้ำ กรมชลประทาน สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) กรมควบคุมมลพิษ สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) และกรมประชาสัมพันธ์ รวมทั้งผู้บริหารกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ผู้เชี่ยวชาญด้านการแจ้งเตือนภัย และหัวหน้าหน่วยงานส่วนกลาง กรม ปภ. เข้าร่วมประชุม
นายภาสกร เปิดเผยว่า ในระยะนี้ทั่วโลก รวมถึงประเทศไทย ประสบปัญหาสาธารณภัยที่มีความแปรผันมากขึ้น หน่วยงานที่มีหน้าที่วิเคราะห์แนวโน้มสถานการณ์ภัย การพยากรณ์ และแจ้งเตือนประชาชนจำเป็นต้องทบทวนหลักเกณฑ์ในการแจ้งเตือนภัยให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลง เพื่อให้การแจ้งเตือนภัยสู่ประชาชนมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น โดยในวันนี้กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ได้เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาประชุมหารือทำความเข้าในเกณฑ์การแจ้งเตือนภัย การปฏิบัติการแจ้งเตือนภัย รวมถึงช่องทางการแจ้งข่าวสารของหน่วยงาน ก่อนที่จะส่งมายังศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เพื่อทำการแจ้งเตือนสู่ประชาชน โดยแต่ละหน่วยงานได้แจ้งเกณฑ์การแจ้งเตือนภัยของหน่วยงานตน อาทิ กรมอุตุนิยมวิทยา และกรมทรัพยากรธรณี ได้ชี้แจงเกณฑ์การแจ้งเตือนภัยภัยแผ่นดินไหว ส่วนกรมทรัพยากรน้ำ กรมชลประทาน สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) ชี้แจงเกณฑ์การแจ้งเตือนภัยภัยน้ำป่าไหลหลาก ซึ่งแต่ละหน่วยงานได้แลกเปลี่ยนข้อมูลการทำงานร่วมกัน และพร้อมที่จะปรับปรุงระเบียบปฏิบัติประจำ (SOP) ด้านการแจ้งเตือนให้มีความประสานสอดคล้องเพื่อให้ทุกหน่วยงานสามารถทำงานด้านการแจ้งเตือนภัยร่วมกันได้อย่างเป็นระบบ
อย่างไรก็ตาม ในการแจ้งเหตุแผ่นดินไหว กรมอุตุนิยมวิทยา โดยกองเฝ้าระวังแผ่นดินไหว จะเป็นหน่วยรับผิดชอบในการแจ้งเหตุ หรือส่งเป็น First message ข้อความแรกให้ประชาชนรับทราบถึงเหตุการณ์เกิดขึ้น จากนั้น กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย จะดำเนินการตามขั้นตอนการแจ้งเตือนต่อไป
นายภาสกร ย้ำว่า ขอแจ้งให้ประชาชนทราบว่า เพื่อให้รองรับกับสถานการณ์ภัยที่เกิดขึ้นในระยะนี้ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยได้เปิดใช้งานระบบ Cell Broadcast แล้ว ทั้งนี้ ถือว่าเป็นการทดสอบระบบในระหว่างที่กำลังพัฒนาประสิทธิภาพให้ทำงานได้เต็มรูปแบบ และในเร็วๆ นี้ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย และผู้ให้บริการเครือข่ายจะทำการทดสอบระบบครั้งใหญ่ทั้งในระดับเล็ก กลาง ใหญ่ และระดับประเทศ โดยจะได้เร่งประชาสัมพันธ์แจ้งข่าวสารให้ประชาชนทราบล่วงหน้าผ่านสื่อต่างๆ อีกครั้ง