xs
xsm
sm
md
lg

สวนดุสิตโพลเผย 3 ข้ออุปสรรคยกระดับ"สงกรานต์"เป็น Soft Power แนะรัฐวางกลยุทธ์และทิศทางชัดเจน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



สวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยสวนดุสิต เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นประชาชนทั่วประเทศต่อกรณี "คนไทยกับสงกรานต์ (Soft Power)" กลุ่มตัวอย่างจำนวน 1,298 คน ระหว่างวันที่ 8-11 เมษายน 2568 พบว่า สงกรานต์ปีนี้ ตั้งใจจะเข้าวัด ทำบุญ สรงน้ำพระ ร้อยละ 60.86

จากเหตุการณ์แผ่นดินไหว กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 67.34 ไม่กังวลกับการท่องเที่ยวช่วงสงกรานต์ (ไม่ค่อยกังวล ร้อยละ 34.44 และไม่กังวล ร้อยละ 32.90) หากสงกรานต์ไทยจะเป็น Soft Power ระดับโลก คิดว่าหัวใจของสงกรานต์ไทย คือ วิธีเล่นน้ำที่สุภาพ สนุก และปลอดภัย ร้อยละ 63.56 ถ้าต้องการให้สงกรานต์ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยได้มากขึ้น ภาครัฐควรวางแผนประชาสัมพันธ์ในตลาดต่างประเทศล่วงหน้าอย่างเป็นระบบ ร้อยละ 50.92

สุดท้าย มองว่าปัญหา/อุปสรรคต่อการยกระดับสงกรานต์เป็น Soft Power ระดับโลก คือ กลยุทธ์และทิศทางของรัฐบาลที่ไม่ชัดเจน ร้อยละ 66.46

น.ส.พรพรรณ บัวทอง ประธานสวนดุสิตโพล ระบุว่า "หัวใจของสงกรานต์ไทย" ที่ประชาชนอยากนำเสนอให้ทั่วโลกรู้จัก คือการเล่นน้ำแบบไทยที่สุภาพ สนุกและปลอดภัย ควบคู่ไปกับรอยยิ้มและบรรยากาศความสนุกสนานแบบไทยๆ แม้จะเกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหวในช่วงก่อนเทศกาล แต่ประชาชนส่วนใหญ่ยังไม่รู้สึกกังวลและยังคงวางแผนเดินทางท่องเที่ยวตามปกติ ถือเป็นโอกาสสำคัญทางเศรษฐกิจที่รัฐบาลไม่ควรมองข้าม พร้อมแนะนำให้ภาครัฐเร่งวางแผนประชาสัมพันธ์สงกรานต์ไทยในต่างประเทศอย่างเป็นระบบ หากต้องการยกระดับสงกรานต์ให้เป็น Soft Power ระดับโลกอย่างแท้จริง

ผศ.ดร.อานุภาพ รักษ์สุวรรณ ประธานหลักสูตรศิลปศาสตรบัณฑิต สาขาวิชากฎหมายมหาชนและการบริหารงานยุติธรรม โรงเรียนกฎหมายและการเมือง มหาวิทยาลัยสวนดุสิต กล่าวว่า การสำรวจของสวนดุสิตโพลสะท้อนให้เห็นว่าเทศกาลสงกรานต์ยังคงมีพลังทางวัฒนธรรมที่เข้มแข็งสะท้อนให้เห็นถึงความผสมผสานของมิติทางศาสนา ครอบครัว และความบันเทิง โดยประชาชนยังคงให้ความสำคัญกับเทศกาลสงกรานต์ในฐานะโอกาสพิเศษแห่งปี แม้ว่าจะเพิ่งผ่านเหตุการณ์แผ่นดินไหว

ทั้งนี้ เทศกาลสงกรานต์สามารถยกระดับเป็น Soft Power ของไทยที่แสดงให้เห็นถึงภาพลักษณ์ทางวัฒนธรรม ค่านิยม และนโยบายที่ดึงดูดความนิยมจากนานาชาติได้ แต่ก็ต้องอาศัยการจัดการเชิงยุทธศาสตร์อย่างจริงจัง โดยเฉพาะด้านการประชาสัมพันธ์ การสนับสนุนกิจกรรมท้องถิ่นและการพัฒนาองค์ประกอบทางวัฒนธรรมให้มีความร่วมสมัยและปลอดภัย อย่างไรก็ตาม อุปสรรคที่สำคัญที่รัฐบาลต้องเร่งแก้ไขคือ การขาดการวางแผน กลยุทธ์และทิศทางที่ชัดเจนของภาครัฐ ซึ่งหากได้รับการแก้ไขอย่างเป็นระบบ จะช่วยให้สงกรานต์ไทยกลายเป็นวาระระดับโลกที่สามารถส่งออกอัตลักษณ์ไทยได้อย่างแท้จริง