นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการะทรวงการคลัง เปิดเผยว่า จากกรณีอาคารสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน หรือ สตง. แห่งใหม่ถล่ม จากเหตุแผ่นดินไหวเมื่อวันที่ 28 มีนาคม ที่ผ่านมานั้น ในส่วนของการทบทวนผู้รับเหมาที่ดำเนินโครงการก่อสร้างอาคาร สตง. ว่าจะถูกขึ้นแบล็กลิสต์หรือไม่นั้น อำนาจไม่ได้อยู่ที่กรมบัญชีกลาง แต่เป็นอำนาจของหน่วยงานเจ้าของโครงการจัดซื้อจัดจ้าง ที่จะต้องทำการเสนอรายละเอียดและปัญหาขึ้นมาให้กรมบัญชีกลางพิจารณาในขั้นตอนสุดท้าย
ณะเดียวกัน การที่จะขึ้นบัญชีแบล็กลิสต์บริษัทผู้รับเหมาไม่ว่าจากกรณีใดก็ตาม จะต้องเรื่องของกฎหมายด้วย ซึ่งยอมรับว่ามาตรการจัดทำแบล็กลิสต์บริษัทที่มีปัญหาจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐนั้น เป็นสิ่งที่ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และกระทรวงการคลังเองก็อยากดำเนินการเช่นกัน แต่ประเด็นคือต้องหาหลักฐานหรือข้อมูลที่ชี้ชัดว่าบริษัทผู้รับเหมาต่างๆ นั้นมีความผิดหรือไม่ ถ้าไม่สามารถชี้ได้ว่ามีความผิด ก็จะไม่สามารถนำบริษัทนั้นขึ้นบัญชีแบล็กลิสต์ได้
อย่างกรณีตึก สตง. หลังใหม่ที่ถล่มนั้น ต้องมีการพิสูจน์ให้ได้ก่อนว่าเหตุที่เกิดขึ้นผิดที่ตรงไหน ซึ่งความผิดอาจจะผิดตั้งแต่การออกแบบอาคาร ผิดที่ผู้ตรวจแบบ ผิดที่คนก่อสร้าง ผิดที่การควบคุมงาน หรือผิดในเรื่องของบริษัทที่ขายเหล็ก ขายเหล็กที่ไม่มีคุณภาพให้ ซึ่งต้องไปไล่ดูทุกจุดว่าสาเหตุแท้จริงมาจากจุดไหน ดังนั้นจึงไม่สามารถฟันหรือไปชี้ว่าผู้รับเหมาผิดทันที
ขณะที่มาตรการขึ้นบัญชีแบล็กลิสต์ หรือ การทำสมุดพกผู้ประกอบการรับเหมาโครงการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐนั้น เป็นนโยบายที่กรมบัญชีกลางได้ดำเนินการไว้แล้ว ซึ่งกรมบัญชีกลางได้ทำรายละเอียดมาตรการ ทั้งการลงโทษแบบลดชั้น และการทำบัญชีแบล็กลิสต์ เสนอไปที่เลขาธิการคณะรัฐมนตรีเป็นที่เรียบร้อย จากนี้ก็รอบรรจุวาระเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรีตามลำดับ
สำหรับมาตรการแบล็กลิสต์ที่กรมบัญชีจัดทำขึ้นนั้น เกิดจากกรณีอุบัติเหตุที่ถนนพระรามสอง ซึ่งมีแนวคิดว่า ถ้าเกิดความผิดพลาดหรืออุบัติเหตุไม่ร้ายแรง ก็จะแค่ลดชั้นการเข้าประมูลงานจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ แต่ถ้ากรณีเป็นเหตุรุนแรงเกิดความเสียหายมาก ก็จะขึ้นบัญชีแบล็กลิสต์ ทั้งนี้กรณีตึกสตง.ถล่มครั้งนี้ถือว่าเป็นอุบัติเหตุครั้งที่ใหญ่และมีความเสียหายมาก ก็คงต้องมีการทบทวนมาตรการให้ครอบคลุมมากยิ่งขึ้น
รวมทั้งตามหลักการแล้ว หนังสือสัญญาจัดซื้อจัดจ้าง จะระบุถึงแค่เรื่องของการดำเนินงานให้เสร็จตามสัญญา ส่วนกรณีอุบัติเหตุนั้น จะต้องใช้อำนาจตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ ซึ่งก็ยังคลุมเครือ เพราะฉะนั้น ในอนาคตก็จะต้องมีการปรับสัญญาจัดซื้อจัดจ้างให้ครอบคลุมกรณีประมาทจนทำให้เกิดความเสียหาย และมีผู้เสียชีวิตให้ชัดเจนมากขึ้น
นอกจากนี้ กระทรวงการคลัง กับ กระทรวงมหาดไทย ก็จะมีการหารือเพิ่มเติมในเรื่องของการจัดซื้อจัดจ้างภารัฐด้วย เพราะงานลักษณะนี้อยู่ในความดูแลของมหาดไทย ซึ่งการหารือในครั้งนี้จะยกกรณีของอาคาร สตง. แห่งใหม่ที่ถล่ม เป็นตัวอย่าง ในการหาแนวทางป้องกัน แก้ไขและเยียวยาในอนาคตต่อไป