พ.ต.ต.ยุทธนา แพรดำ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) เปิดเผยว่า หลังจากที่ดีเอสไอรับกรณีอาคารสำนักงาน สตง.ถล่มหลังแผ่นดินไหว เป็นคดีพิเศษ ในความผิดว่าด้วยการเสนอราคาต่อรัฐ ขณะที่การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว ก็จะดูควบคู่ไปด้วย ซึ่งประเด็นนี้จะไปตรวจสอบคนไทยที่ถือหุ้นว่ามีการถือหุ้นโดยอำพรางหรือไม่
เบื้องต้นไปตรวจสอบที่บ้านของนายประจวบ ที่ จ.ร้อยเอ็ด จำนวน 102,000 หุ้น ของบริษัท ไชน่า เรลเวย์ นัมเบอร์ 10 ประเทศไทย จำกัด คิดเป็น 10.2% เมื่อไปตรวจสอบที่บ้านไม่เจอตัว แต่ได้สอบสวนภรรยา ได้ความว่า นายประจวบ ออกจากบ้านไป 2-3 วันก่อนที่ตำรวจจะมา และทราบว่านายประจวบ มีรายได้น้อยมาก ประมาณ 10,000 บาทต่อเดือน จากการทำงานรับจ้างก่อสร้าง ซึ่งข้อมูลดังกล่าวทำให้เชื่อว่าข้อมูลนายประจวบ ไม่สอดคล้อง และยังพบว่ายังไปถือหุ้น นิติบุคคลอีก 10 บริษัท มีแนวโน้มว่าเป็นนอมินี หรือการถือหุ้นอำพราง ส่วนผู้ถือหุ้นคนอื่นอยู่ระหว่างการติดตามตัว
เช่นเดียวกับ น.ส.กนกไรวินท์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการตรวจสอบบัญชี ที่ระบุว่า บริษัท ไชน่า เรลเวย์ฯ เดิมที่ก่อตั้งมีผู้ถือหุ้นทั้ง 3 คน เป็นนิติบุคคลก่อน และในช่วงแรกนายมนัส ถือหุ้น 306,000 หุ้น ในวันแรก จากนั้นค่อยโอนให้นายโสภณ จนเหลือแค่ 3 หุ้นเท่านั้น ส่วนนายโสภณ มี 407,997 หุ้น ซึ่งตอนนี้อยู่ระหว่างการติดตามว่าเป็นการโอนหุ้นแบบปกติหรือไม่ รวมถึงจะตรวจสอบว่า บุคคลทั้ง 3 ยังไม่เคยประกอบอาชีพในการรับเหมาก่อสร้างมาก่อน แต่กลับเข้ามาเป็นผู้ถือหุ้นขนาดใหญ่แบบนี้และรับงานภาครัฐได้อย่างไร จากตรวจสอบพบทั้งหมด 29 โครงการทั่วประเทศ เป็นเงิน 22,000 ล้านบาท อีกทั้งนายโสภณ ยังเป็นผู้บริหารกับคนจีนอีก 1 คน ซึ่งประเด็นนี้จะไปตรวจสอบเช่นกัน
ร.ต.อ.สุรวุฒิ รังไสย์ รองอธิบดีดีเอสไอ กล่าวว่า บริษัทไชน่าเรลเวย์ฯ อ้างตัวว่าเป็นไทยแต่ไม่มีประสบการณ์และมาร่วมกับบริษัทไทยมาร่วมประมูล ซึ่งต้องดูว่าคนไทยรู้เห็นเป็นใจหรือไม่ และเอกสารเท็จหรือไม่ ซึ่งจะต้องตรวจสอบ รวมถึงจะมุ่งไปดูประเด็นการทำกิจการร่วมค้าของที่บริษัท ไชน่า เรลเวย์ฯ ร่วมค้ากับนิติบุคคลของไทย 11 บริษัท โดยเฉพาะตึก สตง. ที่บริษัท อิตาเลียนไทย ร่วมกับ บริษัท ไชน่า เรลเวย์ฯ ว่าเป็นกิจการร่วมค้าในการประมูลอาคารดังกล่าว โดยจะขอเวลาประมาณ 2 เดือน ในการตรวจสอบว่าเอกสารทั้งหมดเป็นเอกสารจริงหรือไม่ และ 29 โครงการที่ร่วมกับบริษัทไทย ที่รับงานโครงการจากรัฐบาลไปทำ ว่าทำไมถึงต้องอำพราง ทั้งที่เป็นคนไทย แต่ไม่ประมูลเอง
ส่วนที่บริษัท ไชน่า เรลเวย์ฯ ร่วมกับ บริษัทอิตาเลียนไทย ที่ไปประมูลงานก่อสร้าง ตึก สตง.ในราคา 2,136 ล้านบาท จากราคากลาง 2,500 ล้านบาท มองว่าเป็นการฟันราคาเจ้าอื่นหรือไม่ และต้องดูข้อเท็จจริงว่าใช้เหตุผลอะไรทำให้รัฐหลงเชื่อและใช้บริการ