นายธนวรรธน์ พลวิชัย ประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ และอธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ประเมินผลกระทบของภาษีศุลกากรตอบโต้ (Reciprocal Tariffs) ที่มีต่อเศรษฐกิจไทย หลังนายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ประกาศเก็บภาษีพื้นฐาน สำหรับสินค้าทั้งหมดที่นำเข้าสหรัฐฯ โดยประเทศไทยโดนเรียกเก็บถึงร้อยละ 37 ซึ่งจะมีผล 9 เมษายนนี้ ว่า ตัวเลขที่ออกมานั้น มากกว่าที่เคยประมาณการเอาไว้ที่ 10-15% ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจไทย (GDP) ที่ประมาณการไว้ในระดับ 2.5-3.0% แต่เมื่อมีการเรียกเก็บภาษีนำเข้าถึงร้อยละ 36 คาดว่ามาตรการภาษีศุลกากรตอบโต้ของรัฐบาลทรัมป์ 2.0 จะมีผลทำให้มูลค่าการส่งออกรวมของไทยลดลงประมาณ 359,104 ล้านบาท ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนประมาณ -1.93% ของ GDP โดยเป็นผลกระทบทางตรงจากการส่งออกสินค้าไปยังตลาดสหรัฐฯ ลดลง 300,237 ล้านบาท ขณะที่ผลกระทบทางอ้อม มีทั้งการส่งออกวัตถุดิบของไทยในห่วงโซ่อุปทานจีน –เม็กซิโก แคนาดา กับสหรัฐฯ อีกราว 58,867 ล้านบาท ซึ่งจะมีผลให้เศรษฐกิจขยายตัวลดลง 1-2% ดังนั้นทำให้มีความเสี่ยงที่เศรษฐกิจปี 2568 จะโตต่ำกว่า 2% เนื่องจากเศรษฐกิจไทยพึ่งพาการส่งออกและการท่องเที่ยวเป็นหลัก
ทั้งนี้ การส่งออกไปยังสหรัฐอเมริกามีมูลค่าถึงร้อยละ 20 ของ GDP ประเทศ ซึ่งอาจทำให้การส่งออกอาจขยายตัวไม่ถึง 2% ขณะที่ภาคการท่องเที่ยวจะชะลอตัวทั่วโลกรวมถึงไทย ส่งผลให้จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าไทยอาจไม่ถึงเป้า 38-39 ล้านคน ประกอบกับสภาวะเศรษฐกิจโลกที่อาจจะต้องเผชิญกับสงครามการค้าเต็มรูปแบบ
อย่างไรก็ตาม หลังจากนี้จะต้องติดตามว่ารัฐบาลของแต่ละประเทศจะมีการเจรจาต่อรองอย่างไร รวมถึงไทย และสหรัฐฯ จะมีการชะลอมาตรการกำแพงภาษีหรือไม่ ซึ่งจะต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด