น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมติดตามและแก้ไขปัญหาการเตือนภัย SMS ร่วมกับนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม นายภาสกร บุญญาลักษม์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย นายสรณ บุญใบชัยพฤกษ์ ประธานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กรรมการผู้จัดการใหญ่บริษัทโทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) นายสมชัย เลิศสุทธิวงศ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัทแอดวานซ์อินโฟร์เซอร์วิสจำกัดมหาชน และ นายจักรกฤษณ์ อุไรรัตน์ หัวหน้าคณะผู้บริหารด้านกิจการองค์กร บริษัท ทรูคอร์ปอเรชั่นจำกัดมหาชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
โดยนายประเสริฐ รายงานว่า หลังจากนายกรัฐมนตรีได้สั่งการให้กระทรวงดีอี ปภ. กสทช. และโอเปอเรเตอร์ ประชุมร่วมกันเมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา (29 มี.ค.) เพื่อหาสาเหตุถึงความล่าช้าในการส่ง SMS แจ้งเตือนประชาชนหลังเกิดเหตุแผ่นดินไหวเมื่อวันที่ 28 มีนาคม ที่ผ่านมา ได้ข้อสรุป 3 ส่วน คือ การดำเนินการที่ช้า ในช่วงสรุปข้อความและขั้นตอนการส่งข้อความ เพราะฉะนั้นเรื่องนี้ที่ประชุมร่วมกันได้สรุปว่าในส่วนของ ปภ. ได้ให้ทำระบบปฏิบัติการใหม่ในเรื่องการเตือนภัย ซึ่งเป็นหน้าที่ของปภ.อยู่แล้วตามพ.ร.บ. ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พ.ศ. 2550
ส่วนที่สองคือกำหนดระยะเวลาไทม์ไลน์ ถ้าเกิดเหตุแล้วใช้เวลากี่นาทีเพื่อที่จะให้เกิดความเร็ว และอีกส่วนคือเรื่องของโอเปอเรเตอร์ ได้เรียกค่ายโทรศัพท์มือถือมาพูดคุยศึกษาดูว่าระบบที่เป็นแมนนวลก่อนที่ระบบเซลล์บอร์ดแคส ยังทำงานไม่ได้ จะต้องมีการใช้ระบบสำรองอย่างไรในกรณีที่เกิดเหตุฉุกเฉิน
จากนั้น นายกรัฐมนตรี ได้สอบถามว่า ข้อความเวลาส่งแจ้งเตือนประชาชนออกจากหน่วยงานใด
อธิบดี ปภ. ชี้แจงว่า หลังจากได้รับข้อมูลจากกรมอุตุฯ ศูนย์เฝ้าระวังแผ่นดินไหวของสหรัฐอเมริกา และเยอรมนี หากข้อมูล 2 ทางยืนยันตรงกัน จะเริ่มทำการวิเคราะห์ข้อมูล โดยวันเกิดเหตุได้รับข้อมูลจากกรมอุตุนิยมวิทยา และในเว็บไซต์ของสหรัฐอเมริกาที่ยืนยันตรงกันในเวลา 13.36 น.
อย่างไรก็ตาม นายกรัฐมนตรีได้แย้งขึ้นว่า ตนจำได้ว่า ปภ.ส่งครั้งแรก ในเวลา 14.40 น. โดยใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมง
อธิบดี ปภ.จึงชี้แจงต่อว่า การวิเคราะห์ข้อมูลของเราใช้เวลาประมาณ 10 นาที แต่ในขณะที่เหตุการณ์จริงใช้เวลา 4 นาที หลังจากฝ่ายวิเคราะห์ข้อมูลได้รับข้อมูลตรงกัน เพราะต้องดูแรงสั่นสะเทือนและระยะเวลาที่จะมาถึงเรา และหลังจากรับ SMS แจ้งเตือนจากกรมอุตุฯ ก็ได้ส่งกระจายข้อมูลทันที
นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ต้องปรึกษาภาคเอกชนว่าเมื่อเกิดแผ่นดินไหวก็ชัดเจนอยู่แล้ว ความแรงของแผ่นดินไหวเอาไว้ก่อน แต่ถามเอกชนว่าถ้าเกิดภายใน 5 นาที สามารถที่จะสื่อสารและสรุปได้หรือไม่ เข้าใจว่าต้องรอให้ข้อมูลชัด แต่ในเมื่อแผ่นดินไหวเกิดขึ้นแล้ว สามารถส่ง SMS ได้เลยหรือไม่ เช่น ข้อความสั้นแจ้งเตือนให้ออกจากตึก ต้องสอบถามจากเอกชนว่ามีวิธีการหรือไม่ว่าจะต้องทำอย่างไรให้รวดเร็ว
ขณะที่นายจักรกฤษณ์ ตัวแทนบริษัททรู กล่าวว่า การส่ง SMS ต้องเรียนตามตรงว่าไม่ใช่เป็นการสื่อสารหลักในการแจ้งเตือนภัย เพราะวิธีการส่งเราต้องรู้เลขหมายก่อน อย่างเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่เกิดขึ้นครั้งนี้ทาง ปภ.ส่งมายัง Operator ว่า ขอให้ส่งแจ้งเตือนประชาชนในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล เราต้องใช้เวลาในการวิเคราะห์ข้อมูล ว่ามีหมายเลขใดบ้างที่อยู่ในกรุงเทพฯ และปริมณฑล รวมถึงชาวต่างชาติที่เปิดโรมมิ่ง ซึ่งต้องใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมง จึงจะทราบจำนวนเบอร์ที่อยู่ในพื้นที่ จึงจะสามารถส่ง SMS แจ้งเตือนได้ เพราะเราต้องรู้ก่อนว่าใครอยู่ตรงไหนบ้าง ซึ่งคำสั่งแรกบอกให้เราส่งในพื้นที่กรุงเทพฯ สมุทรปราการ นนทบุรีและปทุมธานี แต่ปริมาณในการส่ง ข้อความแจ้งเตือนก็ขึ้นอยู่กับความสามารถของแต่ละค่ายมือถือ ดังนั้น การจัดส่ง SMS อย่างเดียวจึงไม่เพียงพอจำเป็นจะต้องมีการโทรแจ้งเตือนด้วย แต่หากมีเหตุจำเป็นจริงๆ เราก็จะมีการเพิ่มปริมาณในการส่งข้อความในแต่ละครั้ง ไม่ใช่ช่อง แต่ขอย้ำว่า SMS ไม่ใช่ช่องทางเดียวในการส่งข้อความแจ้งเตือน
ขณะที่นายกรัฐมนตรีเห็นด้วยว่า SMS ไม่ใช่ช่องทางเดียว แต่เรื่องของแผ่นดินไหวเราไม่ทราบล่วงหน้า และตนก็คิดว่าการส่ง SMS เป็นการแจ้งข้อมูลเชิงรุก เช่น หากเรานั่งต่อจิ๊กซอว์อยู่ ไม่ได้กำลังเล่นมือถือ จะรู้ได้อย่างไร ดังนั้น SMS จึงเป็นหนึ่งในช่องทางการแจ้งเตือนเชิงรุก ซึ่งเมื่อช่วงเช้า ตนก็ต้องชี้แจงว่าไม่ใช่แผ่นดินไหว ทั้งการให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนและชี้แจงในช่องทางโซเชียลมีเดีย เพื่อเป็นการยืนยันว่าไม่ใช่แผ่นดินไหว