การประชุมวุฒิสภา มี พล.อ.เกรียงไกร ศรีรักษ์ รองประธานวุฒิสภาคนที่หนึ่ง ทำหน้าที่ประธานในการประชุม พล.ต.ต. รมย์สิทธิ์ วีริยาสรร เสนอญัตติด่วนด้วยวาจา ขอให้ที่ประชุมพิจารณากรณีเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่ในประเทศเมียนมา ซึ่งส่งผลกระทบต่อประเทศไทย เมื่อวันศุกร์ที่ 28 มีนาคม ที่ผ่านมา
โดย พล.ต.ต. รมย์สิทธิ์ แถลงหลักการว่า แผ่นดินไหวดังกล่าว เป็นแผ่นดินไหวในระดับสูงมาก แม้ศูนย์กลางการเกิดแผ่นดินไหวในครั้งนี้จะเกิดในประเทศเมียนมาก็ตาม แต่ก็เกิดผลกระทบอย่างร้ายแรงไม่คาดคิดดว่าสถานการณ์อันเลวร้ายนี้ จะเกิดขึ้นในประเทศไทยของเรา ภัยพิบัตินี้ไม่ได้เกิดการสั่นไหวแค่ไหนพื้นดินเท่านั้น แต่เกิดการสั่นไหว หวั่นวิตกของพี่น้องชาวไทยทั้งประเทศอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน แผ่นดินไหวในครั้งนี้ เราได้เห็นภาพวิปโยคในหลายมิติ
เราเห็นตึกสูง 30 ชั้นถล่มลงมาต่อหน้าต่อตา มีผู้เสียชีวิต ผู้สูญหาย และล่าสุดวันนี้เกิดตึกเอียงทรุดเป็นหลุมต่อเนื่อง จนต้องมีการอพยพผู้คน สถานการณ์เหล่านี้ถือว่าเป็นสิ่งที่น่าหวั่นวิตกสำหรับพี่น้องคนไทยอย่างยิ่ง
พล.ต.ต. รมย์สิทธิ์ ยังขอฉายภาพสำคัญ 3 ภาพ ระบุว่า ภาพแรกเป็นภาพของการสับสนอลหม่าน ตื่นตระหนก ทำอะไรไม่ถูกของผู้ประสบภัย ซึ่งเป็นภาพที่น่าสมเพชเวชทนาอย่างยิ่ง ต้องยอมรับว่าการให้ความรู้เรื่องกระบวนการรับมือกับภัยพิบัติ แผ่นดินไหว ถ้าจะพูดกันแบบตรงไปตรงมา แทบจะไม่เคยเกิดขึ้นเลยในประเทศไทย หลายท่านคงเหมือนกับตนที่ยังไม่เคยได้รับการถ่ายทอดการรับมือกับแผ่นดินไหว จึงเป็นเหตุผลที่ทำให้เกิดภาพที่น่าสมเพชเวชทนากับพี่น้องคนไทยเป็นอย่างยิ่ง
พล.ต.ต. รมย์สิทธิ์ กล่าวต่อว่า อีกภาพหนึ่งคือภาพของการเร่งรีบ ลุกลน ของผู้ที่เป็นเจ้าของยวดยานที่จะรีบนำยานพาหนะของตัวเองออกจากอาคารจอดรถทั้งหลาย จนทำให้เกิดปัญหาความแออัดของถนนทุกเส้นทางในกรุงเทพฯ ไม่ว่าจะเป็นซอยเล็กซอยน้อย จนกระทั่งทำให้เกิดเดตล็อกทั้งกรุงเทพ ถนนเป็นอัมพาตต้องใช้เวลาคลี่คลายไม่น้อย ที่สำคัญคือทำให้หน่วยกู้ชีพไม่สามารถเข้าพื้นที่ได้ เรื่องนี้สะท้อนให้เห็นถึงความพร้อมและความล้มเหลวของการบริหารสถานการณ์ในภาวะวิกฤตได้อย่างชัดเจน
พล.ต.ต. รมย์สิทธิ์ กล่าวว่า ภาพอีกอย่างหนึ่งที่ตนอยากจะกล่าวคือการสื่อสาร เราจะพบว่าการสื่อสาร การประชาสัมพันธ์ เป็นอะไรที่ล่าช้า ไม่เท่าทันสถานการณ์ มีพี่น้องประชาชนส่วนใหญ่ไม่ได้รับ SMS ไม่ได้รับข้อมูลข่าวสารจากภาครัฐ ซึ่งเป็นข้อมูลเชิงประจักษ์ ผ่านมา 20 ปีแล้วระบบการแจ้งเตือนของประเทศไทยยังไม่เปลี่ยนแปลง
พล.ต.ต. รมย์สิทธิ์ กล่าวว่า "สิ่งที่พี่น้องคนไทยทั้งชาติอยากเห็น คือการบัญชาการบริหารเหตุการณ์วิกฤตของผู้บริหารประเทศ เมื่อวันที่ 28 มีนาคม เราไม่เห็นภาพนั้นเลย ด้วยเหตุผลในลักษณะที่ผมกราบเรียนดังกล่าวนี้เอง จึงทำให้เกิดปัญหา ภาพที่ไม่อยากจะเห็นจึงได้เห็น จึงนำมาสู่วันนี้ ได้มีการวิพากษ์วิจารณ์ในหมู่ประชาชนและคนทั่วไปว่า ณ เวลานี้ บ้านเมืองของเรายังจะมีความมั่นคงปลอดภัยอยู่หรือไม่"
น.ต.วุฒิพงศ์ พงศ์สุวรรณ ลุกอภิปรายว่า ช่วงเกิดเหตุ ตนได้ออกจากรัฐสภา เผอิญไปผ่านถนนกำแพงเพชรในเวลานั้นพอดีเลย ในเวลานั้นมีแผ่นดินไหว และเห็นตึกถล่มลงมากับตาสองข้าง เราไม่รู้ว่าเกิดอะไรขึ้น มองไปทางขวาก็เห็นน้ำกระฉอกจากตึกเต็มไปหมดเลย ขับรถไปอีกสักพัก คนก็วิ่งลงจากตึกจำนวนมาก เหมือนกับในภาพยนตร์ เรื่องโลกจะแตกอะไรทำนองนั้น
นาวาตรีวุฒิพงศ์ กล่าวว่า ตนคิดว่าประชาชนมากมายก็สงสัยว่าเกิดอะไรขึ้นกับระบบของประเทศไทย ทำไมการเตือนภัยพิบัติหลังจากเกิดเหตุแล้ว ตั้งแต่สึนามิ ผ่านมาเกือบ 20 ปีแล้ว จนถึงปัจจุบันนี้ เราไม่มีอะไรดีขึ้นเลยหรือ จึงย้อนกลับไปศึกษา เพื่อนำมาอภิปรายในวันนี้ การแจ้งเตือนของภาครัฐแทบจะไม่มาเลย SMS ก็ไม่มา บอกว่าจะส่ง ส่งเมื่อไร กี่โมงกว่าจะได้ บางคนเขาก็ได้ ตอนประมาณเกือบ 1-2 ทุ่ม ซึ่งคือหลังจากเกิดเหตุแล้วประมาณ 5- 6 ชั่วโมง แบบนี้ถือว่าเป็นการแก้ปัญหาเร่งด่วนหรือไม่
"คนตกอกตกใจส่งอะไรกันเรื่อยๆ เปื่อย มิจฉาชีพยังส่งข้อความได้เร็วกว่าภาครัฐอีก แถมส่งลิงก์มาด้วย เสร็จแล้วคนกดพลาด เข้าไปก็นึกว่าเตือนภัยจากภาครัฐ ที่ไหนได้ กลายเป็นมิจฉาชีพอีกแล้ว"
นาวาตรีวุฒิพงศ์ กล่าวว่า หน่วยงานของรัฐยิ่งไปกันใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) รวมถึงกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) และกระทรวงมหาดไทย ไม่มีหน่วยงานที่ชัดเจนประชาชนก็ไม่รับการฝึกซ้อมอย่างดี
นาวาตรีวุฒิพงศ์ กล่าวว่า หน่วยงานของภาครัฐใช้งบประมาณไปมาก แต่ไม่เกิดผล รัฐบาลได้กำหนดให้ดำเนินการเกี่ยวกับ Cell Broadcast มานานแล้ว แต่ก็ไม่ได้ทำ ยังจัดซื้อจัดจ้างไม่แล้วเสร็จ พร้อมยกคำพูดนายกรัฐมนตรีที่กล่าวในที่ประชุม ที่บอกว่า ท่านต้องตอบคำถามตรงนี้ให้ได้ เพราะดิฉันต้องตอบคำถามประชาชน ดิฉันสั่งไปตั้งแต่ก่อน 14.00 น. แต่ระบบไม่ออก ก่อนจะย้ำว่า ถึงเวลาปฏิรูปแล้ว
ขณะที่ น.ส.นันทนา นันทวโรภาส อภิปรายว่า แผ่นดินไหวที่ผ่านมาเปลือยเปล่าระบบราชการไทยและรัฐบาลอย่างชัดเจนที่สุด จนทำให้คนไทยตาสว่างกันเลยทีเดียว
นี่เป็น Once in a lifetime แต่เราคงไม่ใช้คำว่าเป็นบุญที่ได้เจอแน่นอน แม้จะเป็นครั้งแรกที่ประสบ แต่รัฐบาลก็ไม่อาจแสดงความรักไร้เดียงสา ปฏิเสธความรับผิดชอบเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นได้ ถ้าจะว่าไปแล้วครอบครัวของท่านนายกฯ เคยเผชิญวิกฤตแล้ว รุ่นพ่อเจอสึนามิ รุ่นอาเจอน้ำท่วมใหญ่ มาถึงท่านนายกฯ น่าจะเอาประสบการณ์การบริหารภาวะวิกฤติมาใช้ได้บ้างไม่มากก็น้อย แต่นี่หาได้มีความเป็นมืออาชีพไม่
น.ส.นันทนา กล่าวว่า แผ่นดินไหวสะท้อนการจัดการของรัฐบาลมากมาย ประการที่หนึ่งคือขาดการสื่อสารในภาวะวิกฤติอย่างมีประสิทธิภาพ
ประการที่สองคือปัญหาการบริหารจัดการ ขาดเจ้าภาพสั่งการในที่เกิดเหตุ หน่วยงานภาครัฐไปถึงช้ากว่าองค์กรพัฒนาเอกชน ที่สำคัญภาครัฐไม่มีใครบัญชาการสถานการณ์ ปล่อยตามธรรมชาติเรียกว่าตามมีตามเกิด ประการที่สาม การช่วยเหลือผู้ประสบภัยที่ล่าช้า จนไม่รู้จะร้องขอความช่วยเหลือจากใคร มีแต่องค์กรพัฒนาเอกชนที่ประชาชนต้องช่วยกันเอง
ประการที่สี่ ได้แก่ ขาดการปฎิบัติการแบบมืออาชีพ ในสถานการณ์ที่ตึกถล่ม ไม่มีการปิดล้อมพื้นที่ทันทีที่เกิดเหตุ ทุกคนกรูเข้าไป ไม่มีการรักษาหลักฐาน คนที่บาดเจ็บอยู่ใต้ซากปรักหักพัง เขาต้องการการกู้ภัยแบบมืออาชีพ แต่กลายเป็นว่าทุกอาชีพเข้าไปอยู่ในพื้นที่ประสบภัย การช่วยเหลือจะมีประสิทธิภาพได้อย่างไร เรายังไม่ทราบเลยว่ามีกี่คนที่เขาไปทำงานในที่เกิดเหตุ เราจะเยียวยาอย่างไรถือเป็นเรื่องเร่งด่วนมาก
น.ส.นันทนา ระบุว่า การสื่อสารในภาวะวิกฤตเป็นเรื่องที่รัฐบาลทำช้าและทำน้อยเกินไป เพราะทันทีที่เกิดแผ่นดินไหว รัฐต้องแจ้งต่อประชาชนให้ทราบทันทีว่าเกิดอะไรขึ้น มันจะต้องเกิดภัยพิบัติอีกเมื่อไหร่อี รัฐบาลถึงจะเตือนภัยประชาชน รัฐบาลไม่เคยสื่อสารให้ประชาชนอุ่นใจ มีแต่คอลเซ็นเตอร์เท่านั้นที่อยู่กับเรา แม้ว่าเราจะไม่ต้องการมันเลย ซึ่งเรื่องนี้ ตนทราบว่ารัฐบาลนี้ได้ตั้งงบประมาณพันล้านบาท เพื่อสร้างระบบเตือนภัย
ขณะที่นายกรัฐมนตรีระบุว่าได้สั่งการไปตั้งแต่ 14.00 น. แต่ระบบไม่ออก ปัญหาใหญ่ขนาดนี้ หน่วยงานภาครัฐเกี่ยงกันทำงานอีก มีกระแสข่าวว่าบริษัทอินเทอร์เน็ตทั้ง 2 ค่าย พร้อมส่ง SMS แต่ กสทช. และ ปภ.ไม่พร้อม ไม่รู้ว่าจะส่งข้อความอะไร มัวแต่ลังเลไป 23 ชั่วโมงผ่านไป ดิฉันได้รับ SMS ถึงวิธีการปฏิบัติตัวหากเกิดอาฟเตอร์ช็อก ดิฉันไม่แน่ใจว่า SMS นี้ ท่านส่งมาเตือนตัวเองหรือไม่ ให้รวบรวมสติแล้วรีบส่งข้อความอย่างเร็วไปให้ประชาชนรับรู้
จากนั้น พล.ต.ท.บุญจันทร์ นวลสาย ได้ลุกขึ้นหารือว่า เหตุการณ์มันเกิดขึ้นแล้ว เรามาร่วมกันหาทางออกดีกว่าหรือไม่ ในวุฒิสภามีผู้มีความรู้ความสามารถ วิศวกรหลายท่าน อย่างไรก็ตาม พล.อ.เกรียงไกร กล่าวตัดบทว่า ที่อภิปรายอยู่ขณะนี้ มีคนเก่งๆ กำลังหาทางออกให้อยู่ เดี๋ยวจะให้รัฐบาลทำอะไรก็คงได้คุยกัน รวมถึงที่ทุกคนพูดถึงเมื่อเช้านี้ด้วย หลายคนปราดเปรื่องมาก จะเสนอให้รัฐบาลว่ากันไป
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การอภิปรายส่วนใหญ่ สว. พุ่งเป้าไปที่การแจ้งเตือนหลังเกิดเหตุ โดยยกประสบการณ์ตนเอง และหลายคนยกตัวอย่างการแจ้งเตือนของต่างประเทศที่รวดเร็ว เช่น ญี่ปุ่น เกาหลี และสหรัฐอเมริกา เป็นต้น