เพจพรรคประชาชน โพสต์ระบุว่า แม้จะทำงานในตำแหน่งมาเพียง 6 เดือน แต่ “แพทองธาร ชินวัตร” กลับมีพฤติกรรม “หนีภาษี หนีหน้าที่ หนีความจริง” เป็นนายกรัฐมนตรีที่ขาดทั้งความรู้ความสามารถ ขาดวุฒิภาวะ ขาดเจตจำนงทางการเมือง การแก้ปัญหาประเทศและนโยบายของรัฐบาลภายใต้การนำของแพทองธารและการครอบงำของผู้เป็นบิดา วางอยู่บนผลประโยชน์ของกลุ่มทุนใกล้ชิด เหนือผลประโยชน์ของประชาชนคนธรรมดา
นี่คือ 10 ประเด็นในการอภิปรายไม่ไว้วางใจ ที่ยังไม่ได้รับคำตอบจากนายกฯ ทำให้พรรคประชาชนไม่สามารถไว้วางใจ แพทองธาร ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรีต่อไป
1. เจตนาวางแผนธุรกรรมอำพรางเพื่อเลี่ยงภาษี ออกตั๋วสัญญาใช้เงินไม่ตรงวัตถุประสงค์
.
ในวันที่ประชาชนต้องเสียภาษีอย่างสุจริต หน่วยงานใต้บังคับบัญชาของนายกฯ จริงจังกวดขันกับการเก็บภาษีให้เต็มเม็ดเต็มหน่วย คนเป็นนายกฯ กลับทำธุรกรรมอำพรางออกตั๋วสัญญาใช้เงินเลี่ยงภาษี
เหนือไปจากเรื่อง “ถูกหรือผิดกฎหมาย” เหนือไปจากคำตอบของนายกฯ ที่ว่ายังไงก็จ่ายภาษีเยอะกว่าผู้กล่าวหา การมีผู้นำประเทศที่วางแผนธุรกรรมอำพรางเพื่อเลี่ยงภาษี กำลังเป็นการส่งสัญญาณถึงสังคมว่าในประเทศนี้ ด้วยผู้นำแบบนี้ อำนาจรัฐสามารถเปลี่ยนอะไรก็ตามที่มีสีเทา ให้กลายเป็นสีขาวได้
แทนที่กฎหมายจะเป็น “บรรทัดฐาน” เป็นขื่อแปให้สังคมยึดถือ กฎหมายก็กลายเป็นเพียง “เครื่องมือ” ในการยืนยันว่า “ฉันทำถูกแล้ว” ถ้าทุกครอบครัว ทุกบริษัททำตามอย่างนายกฯ ประเทศไทยจะเป็นอย่างไร ระบบภาษีของไทยจะมีมาตรฐาน น่าเชื่อถือ การคลังไทยจะยั่งยืน เศรษฐกิจไทยจะน่าลงทุน หรือไม่ ถ้า “ใครๆ ก็ทำกัน” อย่างที่นายกฯ และเครือข่ายยืนยัน
2. ประกอบธุรกิจโรงแรม เทมส์ วัลเลย์ เขาใหญ่ ในเขตพื้นที่ห้ามออกโฉนด-ทำธุรกิจ
ขณะที่ประชาชนหลายแสนหลายล้านคนเผชิญปัญหาที่ดินทับซ้อน ไม่มีไฟฟ้า ไม่มีน้ำใช้ ได้แต่รอการพิสูจน์สิทธิในที่ดินทำกิน โรงแรมที่สร้างรายได้พอกพูนทรัพย์สินให้นายกรัฐมนตรีกลับออกโฉนดได้ ทั้งๆ ที่ที่ดินผืนนั้นตั้งอยู่ในพื้นที่ต้นน้ำลำธาร
กรณีนี้ไม่ใช่แค่การไม่เคารพกฎหมายบ้านเมือง แต่ยังทำให้กฎหมายกลายเป็นแค่เครื่องมือทางการเมืองของตนเองและครอบครัว เจตนาใช้กฎหมายอย่างฉ้อฉล นำไปใช้เล่นงานคู่ขัดแย้งทางการเมืองของตนเอง แต่ปกปิดอำพราง ไม่เคยคิดที่จะตรวจสอบการกระทำผิดของตนเองและครอบครัว
ข้อกล่าวหาที่ว่าการประกอบธุรกิจโรงแรมแห่งนี้ผิดกฎหมายนั้น แม้มีการชี้แจงจากหน่วยงานว่าได้ออกใบอนุญาตประกอบธุรกิจโรงแรมเมื่อปี 2562 แต่คำถามคือตั้งแต่ปี 2557 ที่โรงแรมเริ่มทำธุรกิจ จนถึงปี 2562 โรงแรมแห่งนี้ประกอบการถูกกฎหมายหรือไม่ เรื่องนี้ยังไม่ได้รับคำตอบ
3. สนับสนุน ทักษิณ ชินวัตร บิดาให้ได้รับสิทธิพิเศษ รักษาตัวที่ชั้น 14 โรงพยาบาลตำรวจ
การบริหารงานของนายกฯ แพทองธารยังทำลายหลักนิติรัฐ นิติธรรมของประเทศ โกหกหลอกลวงประชาชน กล่าวเท็จต่อสาธารณะบิดเบือนข้อมูลเรื่องสุขภาพของบิดาในเอกสารราชการที่มีผลต่อการพิจารณาพักโทษ เพื่อช่วยเหลือบิดาตนเองให้ได้รับสิทธิพิเศษเหนือคนอื่น ทำลายความน่าเชื่อถือของกระบวนการยุติธรรม
นายกฯ แพทองธาร อยู่ในฐานะพยานรู้เห็นเป็นใจกับสถานะของบิดามาตลอด สิ่งที่พรรคประชาชนยังไม่ได้รับคำตอบคือสรุปแล้ว ทักษิณ ชินวัตร ป่วยเป็นอะไรกันแน่จึงได้สิทธิพิเศษในการอยู่ชั้น 14 โรงพยาบาลตำรวจ ไม่ต้องติดคุกแม้แต่วันเดียว
4. ไม่กล้าเดินหน้าเอาผิดกับบริษัทต้นตอการระบาดปลาหมอคางดำ
นายกฯ แพทองธาร ชี้แจงว่าได้ดำเนิน 7 มาตรการต่อยอดจากรัฐบาลเศรษฐา ทวีสิน พร้อมอนุมัติงบกลางเพิ่มเติมอีก 98 ล้านบาท ให้กับมาตรการจัดการ ควบคุม กำจัดปลาหมอคางดำ แต่ไม่มีมาตรการไหนเลยที่เรียกความรับผิดชอบจากผู้เป็น “ต้นเหตุ” ของการระบาดที่สร้างความเสียหายแก่ระบบนิเวศเป็นวงกว้าง ปล่อยให้ประชาชนต้องฟ้องคดีต่อสู้กับเอกชนและหน่วยงานรัฐกันเอง
นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่ประเทศไทยมีการเรียกความรับผิดชอบจากเอกชนที่สร้างความเสียหายต่อระบบนิเวศ ที่ผ่านมาศาลฎีกาเคยมีคำพิพากษาให้เอกชนรายเล็กที่ทำเรือน้ำตาลคว่ำยังต้องรับผิดจากการไม่สามารถความคุมความเสียหาย ทว่ามาตรการเช่นนี้กลับไม่เกิดกับกลุ่มทุนใหญ่ หลายกรณียังปล่อยให้ภาคประชาชนฟ้องคดีเองจนถูก SLAPPs หรือฟ้องคดีปิดปาก
5. รู้เห็นเป็นใจแก้สัญญา ทำให้รัฐเสียประโยชน์โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน
นายกฯ แพทองธารไม่ใช่แค่เพิกเฉย ไม่แตะกลุ่มทุนใกล้ชิด บางกรณีถึงขนาดใช้อำนาจที่มีในการแก้ไขข้อสัญญาเอื้อเอกชน อ้างว่าทำเพื่อประโยชน์ประชาชน ในกรณีรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน แท้ที่จริงทำให้รัฐต้องออกเงินสมทบการลงทุนตั้งแต่ปีแรก แทนที่จะเป็นปีที่ 6 ยอมให้มีการผ่อนจ่ายค่าสิทธิ์บริหารรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตเรลลิงก์ กรณีสัมปทานทางด่วน หาทางเอื้อประโยชน์ให้เอกชนโดยการต่อสัญญาสัมปทานโดยไม่จำเป็น
กรณีนี้สะท้อนว่านายกฯ แพทองธาร ไม่มีความรับผิดชอบต่อตำแหน่งหน้าที่ ไม่ปกป้องผลประโยชน์สาธารณะ จงใจสานต่อการทุจริตเชิงนโยบายที่ทำให้รัฐเสียประโยชน์
6. สานต่อขบวนการค่าไฟแพง เปิดทางกลุ่มทุนโครงการรับซื้อไฟฟ้าหมุนเวียนเฟสสอง
การเป็นนายกรัฐมนตรีโดยตำแหน่งย่อมมีสถานะเป็นประธานคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ หรือ กพช. ตามพระราชบัญญัติคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ พ.ศ. 2535 โดย กพช. นั้น มีอำนาจเต็มในการกำหนดนโยบายด้านพลังงานของประเทศ สามารถทบทวนสัญญารับซื้อไฟฟ้าจากเอกชนเพื่อลดภาระต้นทุนค่าไฟที่สูงเกินจริง แต่ที่ผ่านมานายกฯ แพทองธาร มีอำนาจกลับไม่ใช้
ต่อให้ตัดเรื่องผลประโยชน์หรือความสัมพันธ์กับกลุ่มทุนใกล้ชิดออกไป เอาแต่เรื่องความสามารถในการบริหารจัดการและการทำงานอย่างเต็มความสามารถ นายกฯ แพทองธารก็ยังคอยแต่จะหาช่องทาง “หนีหน้าที่” ของตนเอง ไม่เคยคิดจะหาทางเลือกที่ดีกว่าถูกกว่าเพื่อปรับปรุงโครงสร้างพลังงานให้เป็นธรรม กลับจงใจสานต่อขบวนการค่าไฟแพงเอื้อประโยชน์ให้กลุ่มทุนพลังงาน ซ้ำเติมบิลค่าไฟประชาชน
7. ปกปิดข้อมูลปัญหาฝุ่น PM2.5 ไม่รอบด้าน ไม่สากล ไม่ใส่ใจชีวิตประชาชน
นายกฯ แพทองธารไม่เคยใส่ใจชีวิตประชาชน ไม่สนผลลัพธ์หน้างาน จึงเอาแต่แถลงว่าสถานการณ์ฝุ่น PM2.5 ดีขึ้น ฟังแต่ตัวเลขจากราชการ เลือกหยิบข้อมูลเฉพาะด้านดีมาพูด แต่สิ่งที่นายกฯ ไม่เคยพูดถึงเลย คือมาตรการแก้ฝุ่นของรัฐบาลแพทองธารจับต้องไม่ได้สักอย่างเดียว
หลังจบปี 2567 เราเสียโอกาสทองในการออกมาตรฐานบังคับสินค้าเกษตรที่มีที่มาจากเผาเพื่อควบคุมสินค้าเกษตรในประเทศ รวมถึงสินค้าเกษตรที่จะนําเข้าจากต่างประเทศ เราเสียโอกาสในการออกหลักเกณฑ์การตรวจสอบห่วงโซ่อุปทานของบริษัทนายทุนขนาดใหญ่ เราพลาดเวลาสําคัญในการออกมาตรการสนับสนุนเกษตรกรรายย่อยให้ทําเกษตรแบบไม่เผา เพื่อให้เกษตรกรสามารถวางแผนต้นทุนได้ โดยไม่กระทบปากท้อง เราพลาดโอกาสในการเตรียมการรับมือเรื่องการเผาภาคการเกษตรและไฟป่าในช่วงเดือนมกราคม ทำให้กลางเดือนมกราคม มีการเผาภาคเกษตรอย่างหนัก
8. แก้ปัญหาคอลเซ็นเตอร์แบบเกรงใจกลุ่มทุน ไม่เร่ง พ.ร.ก.แบ่งความรับผิดชอบกับสถาบันการเงิน
ปัญหาแก๊งคอลเซ็นเตอร์ที่คนจำนวนมากยังเดือดร้อนอยู่ทุกวันทุกชั่วโมง รัฐบาลควรออกกฏหมายที่กำหนดให้ธนาคารและค่ายมือถือมีส่วนร่วมรับผิดชอบความเสียหายที่เกิดกับประชาชน แต่หลังจากมีการนำร่าง พ.ร.ก.กำหนดมาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี หรือ พ.ร.ก.ร่วมรับผิดชอบฯ เข้าที่ประชุม ครม. เมื่อ 28 มกราคมที่ผ่านมา นับถึงวันนี้เกือบ 2 เดือน พ.ร.ก. ฉบับดังกล่าวยังไม่มีความคืบหน้า ไม่มีคำตอบที่ชัดเจนจากนายกรัฐมนตรีว่าจะออกมาเมื่อไร จนล่าสุด รมว.ดิจิทัลฯ ยืนยันว่าจะเสร็จสิ้นภายในเดือนมีนาคมนี้
โดยเนื้อหาสำคัญในกฎหมายดังกล่าว คือให้ธนาคาร ค่ายมือถือ แพลตฟอร์มต่างๆ ร่วมรับผิดชอบหากไม่ทำตามมาตรการที่กำหนด กำหนดโทษสำหรับการซื้อขายเหรียญคริปโตเคอร์เรนซีในรูปแบบที่ผิดกฏหมาย ยกเลิกการซื้อขายแบบ P2P และกำหนดขั้นตอนการคืนเงินแก่ผู้เสียหายให้เร็วขึ้น
9. ขาดการกำกับดูแลฟรีวีซ่า ปิดตาให้ทุนเทาทำลายธุรกิจไทย กลายเป็นดินแดนศูนย์เหรียญ
ในวันที่ผู้ประกอบการไทยกำลังเผชิญความยากลำบาก โรงงานทยอยปิดกิจการ คนตัวเล็กตัวน้อยถูกแย่งที่ทางทำมาหากิน นายกฯ กลับปล่อยให้ทุนเทาเข้ามาหากิน เบียดบังแรงงานไทยและธุรกิจไทย
ประเทศไทยกลายเป็น “ดินแดนศูนย์เหรียญ” คนงานจีนทำงานผิดกฎหมายเต็มโรงงาน แต่นายกฯ เอาหูไปนาเอาตาไปไร่ ไม่เคยจริงจังกับการกำกับดูแลฟรีวีซ่า
ส่งผลให้เกิดพฤติกรรม “เวียนเทียนวีซ่า” ชาวต่างชาติเวียนกันเข้า-ออกประเทศไทย เมื่ออยู่ในประเทศก็แย่งงานคนไทย ทำลายอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องตั้งแต่ต้นน้ำยันปลายน้ำ ทำลายธุรกิจชุมชนที่เป็นเส้นเลือดหลักของเศรษฐกิจ มีแต่ขบวนการที่หากินกับทุนต่างชาติสีเทาที่ได้ประโยชน์ การปล่อยปละละเลยเช่นนี้ นายกฯ กำลังทำร้ายเศรษฐกิจไทยแบบไม่มีวันหวนกลับ
10. ปล่อยผ่านปฏิบัติการข้อมูลข่าวสารของกองทัพ ใช้เงินภาษีประชาชนสร้างความขัดแย้งในสังคมไว้หากิน
รัฐบาลเพื่อไทยเป็นรัฐบาลพลเรือนในรอบเกือบทศวรรษของประเทศไทย แทนที่เมื่อเข้ามาจะปฏิรูปกองทัพ กลับสยบยอมต่อฝ่ายอำนาจนิยม ละทิ้งการปฏิรูปกองทัพ ไม่ดำเนินการตามนโยบายที่ให้สัญญากับประชาชน ปล่อยให้ทหารบางกลุ่มใช้กลไกของรัฐอย่างปฏิบัติการข้อมูลข่าวสารหรือ IO เป็นเครื่องมือแทรกแซงการเมือง คุกคามประชาชน ปลุกปั่นสร้างความแตกแยกเกลียดชังในสังคม โจมตีทุกคนแม้แต่นายกฯ แพทองธารและบิดา รวมถึงแกนนำพรรคร่วมรัฐบาล
หากปล่อยกองทัพทำเช่นนี้ต่อไป ประชาธิปไตยจะยิ่งถูกเซาะกร่อนบ่อนทำลาย เมื่อไรที่นายพลบางกลุ่มสามารถสร้างสถานการณ์จนสุกงอม พวกเขาก็พร้อมที่จะก่อรัฐประหารอีกครั้ง
ทั้งหมดนี้แสดงให้เห็นว่าการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของ แพทองธาร ชินวัตร ก่อความเสียหายกับประเทศไทยและคนไทยอย่างรุนแรง ยิ่งไปกว่านั้น ภายใต้สถานการณ์เศรษฐกิจและภูมิรัฐศาสตร์ที่มีแต่จะปั่นป่วนขึ้นเรื่อยๆ การดำรงตำแหน่งของแพทองธารต่อไป นอกจากจะไม่สามารถบรรเทาปัญหาแล้ว มีแต่จะยิ่งเพิ่มความเสียหายให้กับเศรษฐกิจ การเมือง และสังคมไทย
ต้นตอมาจากรัฐบาลชุดนี้ที่เกิดขึ้นจากการจัดตั้งภายใต้ ‘ดีลแลกประเทศ’ ซึ่งมีเพียงคนไม่ถึง 1% ได้รับผลประโยชน์ แต่เป็นต้นทุนราคาแพงที่คนไทย 99% ต้องร่วมกันจ่าย