xs
xsm
sm
md
lg

“วรงค์”เผย 8 ข้อสิ่งที่แพทยสภาต้องไขคำตอบให้ ปชช.ปมเรื่องชั้น14

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม ประธานพรรคไทยภักดี โพสต์เฟซบุ๊ก ระบุว่า #สิ่งที่แพทยสภาต้องตอบให้ชัดเรื่องชั้น14

เริ่มมีกระแสข่าว ผลการสอบสวนแพทยสภา แต่ยังไม่เป็นทางการ เพื่อให้เกิดความเข้าใจตรงกัน ผมอยากให้พี่น้องประชาชน ตั้งหลักประเด็นที่สังคมควรรับรู้ เมื่อมีผลรายงานออกมา

ตามหลักการ แพทยสภาจะพิจารณาเรื่องมาตรฐานและจริยธรรมทางการแพทย์ ความถูกต้อง ความซื่อสัตย์ ไม่โกหก ซึ่งนี่คือกรอบตามที่แพทยสภาสอบ

และความจริงที่แพทยสภาต้องทราบว่า ผู้ป่วยชั้น14คือนักโทษ ที่ถูกส่งตัวมา แสดงว่าโรงพยาบาลราชทัณฑ์ต้องรักษาไม่ได้ ร.พ.ราชทัณฑ์เป็นโรงพยาบาลขนาดใหญ่ 400เตียง มีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ แสดงว่านักโทษรายนี้ต้องป่วยวิกฤติ

สิ่งที่รายงานสอบของแพทยสภา น่าจะมีคำตอบให้ประชาชน

1.ค่ำคืนวันที่22 ต่อ23 สิงหาคม 2566 นักโทษมีอาการป่วย 4 โรค โรคปอด หัวใจขาดเลือด ความดัน และสันหลังเสื่อม ซึ่งถือว่าปกติของวัย75ปี โดยเฉพาะความดันสูงและอ้างหัวใจขาดเลือด ทำไมแพทย์เวร ซึ่งเป็นอายุรแพทย์ ดูแลไม่ได้?? ตามข่าวไม่มาดูแล แต่แนะนำทางโทรศัพท์ จริงหรือไม่?? ทำไมไม่มาดูแล รักษาเบื้องต้น??อาการความดันสูงและหัวใจขาดเลือด ซึ่งเป็นโรคที่มีประวัติเก่า แพทย์โรงพยาบาลราชทัณฑ์ รักษาไม่ได้จริงหรือ?? สมเหตุผลหรือไม่?? ตามข่าวทำไมแพทย์เวร นอกจากไม่มาดูแล้ว ยังปล่อยให้พยาบาลส่งตัว?? ต้องชี้แจงให้เคลียร์ครับ

2.การส่งตัวต่อยามค่ำคืนดึกๆ อ้างว่าอันตรายต่อชีวิต ผู้ป่วยที่เป็นนักโทษ ทำไมไม่ผ่านER เพื่อเช็คเบื้องต้น(vital sign) และส่งแลป และควรเอาไปไว้ที่หอผู้ป่วยหนัก (ICU หรือCCU) แต่เอาไปที่ชั้น14 ทำไมจึงขัดกับหลักดูแลผู้ป่วยหนัก?? ควรมีคำอธิบาย และผู้ป่วยวิกฤติที่ย้ายกลับร.พ.ราชทัณฑ์ไม่ได้ แต่ยังอยู่ชั้น14 ที่ไม่ใช่ICU ต้องมีคำอธิบายด้วย

3.การรักษาของแพทย์ แม้จะถูกต้องแต่ละอาการ แต่สมเหตุสมผลกับการเป็นนักโทษ ที่โรงพยาบาลราชทัณฑ์รักษาไม่ได้หรือไม่ แสดงว่าป่วยวิกฤติเกินกว่า ศักยภาพของโรงพยายาลราชทัณฑ์ ถ้าโรงพยายาลราชทัณฑ์รักษาได้ ควรจะรักษาที่โรงพยายาลราชทัณฑ์หรือไม่

4.การออกใบรับรองแพทย์ ช่วงเวลารักษาผ่านมา 30วัน 60วัน และ120วัน เพื่อให้นักโทษรักษาตัวต่อชั้น14 เป็นการออกใบรับรองแพทย์ เพื่อเอื้อประโยชน์ ช่วยนักโทษ ไม่ต้องติดคุก แต่ให้รักษาตัวต่อชั้น14 หรือไม่? นักโทษรายนี้ยังป่วยวิกฤตินานต่อเนื่อง นานหลายเดือนจริงหรือ เพราะถ้าไม่วิกฤติ ก็ควรส่งตัวกลับโรงพยายาลราชทัณฑ์ ควรมีคำอธิบาย

5.ด้วยหลักทางการแพทย์ การที่ไม่ส่งตัวกลับ โรงพยาบาลราชทัณฑ์ แสดงว่าอาการยังวิกฤติ โดยเฉพาะวันส่งตัวมา อ้างหัวใจขาดเลือดและความดัน อันตรายถึงชีวิต แต่ทำไมแพทย์ที่ดูแล เป็นแพทย์ศัลยกรรม เช่นศัลยกรรมประสาท ทำไมไม่มีทีมแพทย์หัวใจ เป็นเจ้าของคนไข้ ถ้ารักษามาหลายเดือนยังวิกฤติ ทำไมไม่ปรึกษาแพทย์ที่มีศักยภาพสูงเช่นโรงเรียนแพทย์ เรื่องนี้ต้องอธิบายให้ชัดคำรับ

6.การทำMRI การทำ scope ที่ไหล่เพื่อรักษาเอ็นไหล่ ต้องมีคำชี้แจงให้ชัดเจน เพราะผู้ป่วยรายนี้คือ นักโทษที่ถูกส่งตัวมาจากเรือนจำ และยังป่วยวิกฤติ เพราะยังส่งกลับเรือนจำไม่ได้ การทำหัตการเช่นนี้ สอดคล้องกับหลักทางการแพทย์หรือไม่ ควรต้องอธิบาย

7.แม้เรื่องนี้ไม่เกี่ยวโดยตรงกับอำนาจของแพทยสภา แต่มีความสัมพันธ์ทางอ้อม ตามข่าวที่นักโทษรายนี้เชิญแขกไปพบที่ชั้น14 เพราะการเชิญแขกไปพบ พูดคุยได้ แสดงว่าไม่น่าจะป่วยวิกฤติ ถ้าไม่ป่วยวิกฤติ แพทย์ที่ทำการรักษา ทำไมไม่ส่งตัวกลับราชทัณฑ์

8.การรักษาตัวต่อเนื่อง 6เดือนที่ชั้น14 โรงพยาบาลตำรวจ และไม่ยอมส่งตัวกลับราชทัณฑ์ แสดงว่านักโทษต้องมีอาการหนักตลอด6เดือน แต่ได้สิทธิ์พักโทษกรณีพิเศษ นั่งรถตัวตรงกลับบ้านทันที มันย้อนแย้งกับอาการป่วยหนักหรือไม่ ที่สำคัญคือ วันส่งมาที่ชั้น14 อ้างเป็นอันตรายต่อชีวิต ความดันสูง หัวใจขาดเลือด แต่วันออกจากโรงพยาบาล มาใส่ปลอกคอและคล้องแขน ควรมีคำอธิบาย

นี่คือข้อสงสัยเบื้องต้น ที่แพทยสภาควรไขคำตอบ ให้ความชัดเจนแก่ประชาชน เพราะสิ่งที่ประชาชนสงสัยทั้งหมด เกี่ยวเนื่องกับการเจ็บป่วยของนักโทษ บนฐานความจริงที่ต้องถูกเชื่อมโยง ความสามารถในการรักษาของแพทย์โรงพยาบาลราชทัณฑ์ เพราะทั้งหมดจะไขคำตอบจริยธรรมของแพทย์ ว่าให้ข้อมูลเท็จเพื่อช่วยนักโทษไม่ต้องกลับราชทัณฑ์หรือไม่......รอคำชี้แจงที่ชัดเจนจากแพทยสภา