xs
xsm
sm
md
lg

รฟท.ร่วมกับ 25 ภาคีเครือข่าย ลงนามบันทึกข้อตกลง MOU พัฒนาการท่องเที่ยวโดยรถไฟเส้นทางสายอีสาน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



นายอวิรุทธ์ ทองเนตร รองผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย พร้อมด้วย รองศาสตราจารย์ประยุกต์ ศรีวิไลผู้รักษาราชการแทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยมหาสารคาม และรองศาสตราจารย์สมเจตน์ ดวงพิทักษ์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏเลย รวมถึงหน่วยงานภาครัฐและเอกชนทั้ง 25 ภาคีเครือข่าย ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือด้านวิชาการและการวิจัย (MOU) “โครงการการพัฒนาการท่องเที่ยวโดยรถไฟสายอีสาน สู่การใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์และส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์”

นายอวิรุทธ์ กล่าวว่า นายวีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย มอบหมายให้ตนเป็นตัวแทนการรถไฟฯ ร่วมลงนามบันทึกความร่วมมือในครั้งนี้ เพื่อพัฒนาเส้นทางและผลิตภัณฑ์ทางการท่องเที่ยวโดยรถไฟสายอีสานใน 2 เส้นทาง ได้แก่ กลุ่มจังหวัดอีสานตอนบน (อุดรธานี หนองคาย) และอีสานตอนล่าง (นครราชสีมา บุรีรัมย์ และอุบลราชธานี) ให้เกิดเป็นรูปธรรม เพื่อนำมาพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวและกิจกรรมที่มีเอกลักษณ์ ผ่านการผสมผสานนวัตกรรมและมรดกทางวัฒนธรรมของชุมชน พร้อมยกระดับการท่องเที่ยวโดยรถไฟสายอีสานให้เป็นหนึ่งในกลไกสำคัญของการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในภูมิภาค

นายอวิรุทธ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ปัจจุบัน การเดินทางท่องเที่ยวโดยรถไฟ เป็นส่วนหนึ่งในขับเคลื่อนและพัฒนาการท่องเที่ยวของประเทศ เพราะเป็นการเดินทางที่ปลอดภัย สะดวกสบาย และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นการเปิดโอกาสให้นักท่องเที่ยวได้รับประสบการณ์ใหม่ในการเดินทาง สัมผัสความงดงามของธรรมชาติและความหลากหลายทางวัฒนธรรม เปิดพื้นที่ใหม่ในการสร้างสรรค์สินค้า บริการ และกิจกรรมการท่องเที่ยวในชุมชนท้องถิ่น รวมทั้งเชื่อมโยงเส้นทางการท่องเที่ยวจากเมืองหลักสู่เมืองน่าเที่ยว การรถไฟฯ จึงพัฒนาโครงข่ายระบบรางเพื่อเชื่อมโยงการเดินทางท่องเที่ยวภายในประเทศ ตลอดจนการเชื่อมโยงการท่องเที่ยวไปยังประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งจะนำไปสู่การเป็นศูนย์กลางเมืองท่องเที่ยวต่อไป

สำหรับโครงการดังกล่าว เป็นโครงการที่การรถไฟแห่งประเทศไทย มหาวิทยาลัยมหาสารคาม และมหาวิทยาลัยราชภัฏเลย พร้อมทั้ง 25 ภาคีเครือข่าย ร่วมกันขับเคลื่อนการพัฒนาการวิจัยสู่การใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ ด้วยการเปิดประสบการณ์ใหม่ในการเดินทางท่องเที่ยวโดยรถไฟ เชื่อมโยงเส้นทางการท่องเที่ยวจากเมืองหลักสู่เมืองน่าเที่ยวและชุมชนท้องถิ่น เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทยในระดับสากล สอดคล้องกับแผนพัฒนาโครงข่ายรถไฟของประเทศไทย ซึ่งจะช่วยสร้างโอกาสในการดึงดูดนักท่องเที่ยวจากทั่วโลก พร้อมทั้งกระตุ้นเศรษฐกิจในพื้นที่โดยรอบ และสร้างความเชื่อมั่นในการเดินทางด้วยระบบขนส่งทางรางที่มีประสิทธิภาพและปลอดภัย

“ความร่วมมือในครั้งนี้ เป็นการสนับสนุนที่สำคัญในการพัฒนาเส้นทางท่องเที่ยวโดยรถไฟสายอีสาน ผ่านการบูรณาการนวัตกรรมและวัฒนธรรมท้องถิ่น เพื่อเพิ่มมูลค่าเศรษฐกิจในพื้นที่ ซึ่งหวังว่า การพัฒนาในครั้งนี้จะเป็นต้นแบบสำหรับอนาคตของการท่องเที่ยวทางรถไฟ ที่ไม่เพียงแต่สร้างโอกาสใหม่ๆ ให้กับชุมชนและผู้ประกอบการในภูมิภาค แต่ยังเป็นการยกระดับการท่องเที่ยวไทยให้มีความยั่งยืนและเติบโตอย่างต่อเนื่องอีกด้วย” นายอวิรุทธ์ กล่าว