นายก้องเกียรติ เต็มตำนาน ผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 2 (ศรีราชา) เปิดเผยถึงความคืบหน้าในการนำช้างป่า "สีดอแก้ว" ซึ่งออกมาสร้างความเดือดร้อนให้กับประชาชนในพื้นที่จังหวัดสระแก้ว กลับเข้าสู่พื้นที่โครงการจัดการช้างป่าออกนอกพื้นที่ป่าอนุรักษ์ ที่บ้านคีรีเขตพัฒนา หมู่ 26 ตำบลทุ่งมหาเจริญ อำเภอวังน้ำเย็น จังหวัดสระแก้ว ได้แล้ว
"ช้างสีดอแก้ว" มีพฤติกรรมชอบอาศัยอยู่ตามชุมชนและมักสร้างความเสียหายต่อทรัพย์สินของประชาชน ด้วยขนาดที่ใหญ่กว่า 6 ตัน ทำให้ชาวบ้านหวาดกลัว ซึ่งเจ้าหน้าที่เคยจับเคลื่อนย้ายไปปล่อยกลางป่ามาแล้ว 7 ครั้ง สีดอแก้วยังคงกลับออกมาอยู่ตามชุมชนเสมอ และแม้เคยถูกนำเข้าไปอยู่ในพื้นที่โครงการจัดการช้างออกนอกพื้นที่ป่าอนุรักษ์มาแล้ว แต่สีดอแก้วก็สามารถพังเสาพะเนียดและออกจากพื้นที่ได้
ล่าสุด เจ้าหน้าที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาอ่างฤๅไนได้นำรั้วไฟฟ้าไปติดตั้งรอบพื้นที่โครงการจัดการช้าง โดยคาดว่าเมื่อสีดอแก้วเข้าไปในพื้นที่ควบคุมจะไม่กล้าเข้าใกล้เสาพะเนียด กระทั่งเมื่อเจ้าหน้าที่ได้พบตัวสีดอแก้วในพื้นที่ใกล้เคียง เจ้าหน้าที่จึงทำการผลักดันและใช้อาหารล่อจนสามารถนำช้างสีดอแก้วกลับเข้าสู่พื้นที่ควบคุมได้สำเร็จ ปฏิบัติการดังกล่าวเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 18 มีนาคม 2568 โดยทีมเจ้าหน้าที่จากหลายหน่วยงาน นำโดยนายเอกชัย แสนดี หัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาอ่างฤๅไน พร้อมด้วยนายฑิฐิ สอนสา หัวหน้าสถานีวิจัยสัตว์ป่าฉะเชิงเทรา และนางสาวมัชฌมฌ แก้วพฤหัสชัย หัวหน้าศูนย์ช่วยเหลือสัตว์ป่าที่ 2 (กระบกคู่) รวมถึงเจ้าหน้าที่ชุดเฝ้าระวังจากเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาอ่างฤๅไน
นายเอกชัย รายงานว่า ก่อนหน้านี้ช้างป่าสีดอแก้วได้ออกจากพื้นที่อนุรักษ์และเข้ามาหากินในพื้นที่ชุมชนบริเวณอำเภอวังสมบูรณ์ และอำเภอวังน้ำเย็น จังหวัดสระแก้ว สร้างความวิตกกังวลให้กับประชาชน เนื่องจากเกรงว่าจะเกิดอันตรายและความเสียหายต่อทรัพย์สินและพืชผลทางการเกษตร ทีมเจ้าหน้าที่จึงได้วางแผนอย่างรอบคอบเพื่อผลักดันช้างกลับเข้าสู่พื้นที่ปลอดภัยโดยไม่ให้เกิดอันตรายทั้งต่อช้างและผู้ปฏิบัติงาน
ในเบื้องต้น เจ้าหน้าที่ได้จัดเตรียมอาหารสำหรับช้างป่าไว้จำนวนหนึ่ง เนื่องจากพืชอาหารภายในพื้นที่มีไม่เพียงพอ โดยต้องนำอาหารมาให้ช้างทุกวัน ความสำเร็จครั้งนี้ได้พิสูจน์ว่าพื้นที่จัดการช้างแห่งนี้สามารถกักกันช้างได้อย่างมีประสิทธิภาพเมื่อเพิ่มรั้วไฟฟ้า และในอนาคต กรมอุทยานแห่งชาติฯ มีแผนจะดำเนินโครงการปลูกพืชอาหารสัตว์ในพื้นที่โครงการ เพื่อลดความจำเป็นที่ช้างจะต้องออกมาหากินในพื้นที่ชุมชน
ความสำเร็จในครั้งนี้เป็นผลจากความร่วมมือของทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งระหว่างคนกับช้างป่า ตามนโยบายของ ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และนายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ในการเร่งแก้ปัญหาสัตว์ป่าที่สร้างความเดือดร้อนให้ประชาชน