xs
xsm
sm
md
lg

ผลสอบเหตุคานปูนทางยกระดับ ด่วนพระราม 2 ถล่ม เมื่อ พ.ย.67 "น็อตยึดคานหลุด"

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



นายอภิรัฐ ไชยวงศ์น้อย อธิบดีกรมทางหลวง เปิดเผยผลการตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีเหตุการณ์คานปูน (Segment) และเครน (Launching Gantry Crane) ซึ่งเป็นชิ้นส่วนสำคัญของโครงการก่อสร้างทางหลวงพิเศษหมายเลข 82 สายทางยกระดับบางขุนเทียน-บ้านแพ้ว ช่วงเอกชัย-บ้านแพ้ว ตอนที่ 1 พังถล่มลงมาระหว่างกระบวนการเชื่อมต่อคาน ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บหลายรายเหตุเกิดเมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 2567

นายอภิรัฐ ระบุว่า โครงการก่อสร้างถนนพระราม 2 ยังคงเป็นไปตามแผนเดิมและมีเป้าหมายแล้วเสร็จภายในปี 2568 โดยกรมทางหลวงให้ความสำคัญสูงสุดกับการเปิดการจราจรให้เร็วที่สุด เนื่องจากเป็นเส้นทางหลักที่มีปริมาณการจราจรหนาแน่น ขณะนี้ได้เร่งดำเนินการรื้อย้ายชิ้นส่วนขนาดใหญ่ (ทรัค) แม้ว่าจะเป็นงานที่มีความซับซ้อนและต้องใช้เวลา แต่ก็สามารถเคลียร์พื้นที่ได้ภายใน 14 วัน

สำหรับการตรวจสอบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับสาเหตุของอุบัติเหตุในครั้งนี้ มีคณะกรรมการอิสระ (Third Party) ที่เป็นผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเข้ามาดำเนินการตรวจสอบ โดยใช้เครื่องมือและกระบวนการที่มีความละเอียดสูง ทั้งนี้ การตรวจสอบได้ดำเนินการตามไทม์ไลน์ที่กำหนด และมีการเก็บวัตถุพยานทั้งหมดไปทดสอบอย่างละเอียด ซึ่งกระบวนการดังกล่าวใช้เวลาประมาณ 41 วัน เนื่องจากต้องตรวจสอบวัสดุโครงสร้างขนาดใหญ่ รวมถึงอุปกรณ์เฉพาะทาง

จากผลการสอบสวนเบื้องต้น ทีมผู้เชี่ยวชาญระบุว่าเหตุการณ์ดังกล่าวไม่ได้เกิดจากข้อผิดพลาดในกระบวนการออกแบบ เพราะได้มีการตรวจสอบทุกขั้นตอนและเป็นไปตามมาตรฐานกำหนด นอกจากนี้ วัสดุที่ใช้ก่อสร้างก็ผ่านการทดสอบและได้รับการรับรองมาตรฐานจากแหล่งผลิตในต่างประเทศ

อย่างไรก็ตาม สาเหตุหลักของการถล่มเกิดจากปัญหาทางโครงสร้างในระหว่างการติดตั้ง โดยพบว่าโครงเหล็กที่รองรับคานปูนเกิดการทรุดตัว เนื่องจากน็อตที่ใช้ยึดระหว่างคานคอนกรีตกับเฟรมเหล็กด้านบนเกิดการรูดหลุดออกมา ซึ่งการตรวจสอบชี้ว่าอาจเป็นผลมาจากการขันนอ็ตที่ไม่ได้แน่นหนาเพียงพอ และคาดว่าอาจมีข้อผิดพลาดในขั้นตอนการทำงานของผู้ปฏิบัติงาน

กรมทางหลวงยืนยันว่า จะมีมาตรการเข้มงวดในการป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์ลักษณะนี้ซ้ำ โดยจะมีการตรวจสอบขั้นตอนการติดตั้งที่ละเอียดขึ้น รวมถึงกำหนดให้ผู้ปฏิบัติงานต้องมีคุณสมบัติเฉพาะทาง และผ่านการอบรมด้านความปลอดภัยอย่างเข้มข้น นอกจากนี้ จะมีการประเมินคุณภาพของวัสดุก่อสร้างทุกชิ้นอย่างละเอียดก่อนนำไปใช้ในโครงการ พร้อมทั้งวางมาตรการคุมเข้มในกระบวนการก่อสร้างเพื่อป้องกันความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น

ทั้งนี้ กรมทางหลวงยืนยันว่า แม้จะมีอุบัติเหตุเกิดขึ้น แต่การก่อสร้างทางยกระดับในโครงการนี้จะยังคงเดินหน้าต่อไปตามแผนที่วางไว้ พร้อมปรับปรุงมาตรการด้านความปลอดภัยให้มีมาตรฐานสูงสุด เพื่อให้ประชาชนสามารถใช้เส้นทางได้อย่างปลอดภัยในอนาคต