xs
xsm
sm
md
lg

ก.เกษตรฯ ตั้งเป้าขยายโอกาสส่งออกสินค้าเกษตรไทยไปจีน เพิ่มรายได้ให้เกษตรกร

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงการร่วมคณะกับ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เดินทางเยือนสาธารณรัฐประชาชนจีน ว่า ได้มีโอกาสหารือทั้งกับภาครัฐและเอกชนของจีน พบว่ายังมีโอกาสส่งออกสินค้าเกษตรคุณภาพจากไทยไปยังตลาดจีนอีกมาก โดยนายกรัฐมนตรีมีนโยบายตลาดเชิงรุก เพื่อให้เกษตรกรมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ประเทศจีนเป็นคู่ค้าสำคัญของไทย โดยสินค้าเกษตรไทยส่งออกจีนมากเป็นอันดับ 1 และมีแนวโน้มส่งออกเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ขณะเดียวกันสินค้าจีนก็ส่งออกมายังไทยมากเช่นกัน

เมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ คณะรัฐมนตรีไทยได้อนุมัติโครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน เพื่อให้ไทยสามารถขนส่งสินค้าเกษตรไปจีนได้รวดเร็วยิ่งขึ้น ต่อมาวันที่ 6 กุมภาพันธ์ ไทยและจีนร่วมลงนามพิธีสารว่าด้วยหลักเกณฑ์การตรวจสอบกักกันโรค และสุขอนามัยทางสัตวแพทย์ของกรมประมงที่มาจากการเพาะเลี้ยงส่งออกมายังสาธารณรัฐประชาชนจีน ระหว่างกระทรวงเกษตรและสหกรณ์แห่งราชอาณาจักรไทยและสำนักงานศุลกากรแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน (GACC) โดยไทยสามารถเจรจาเปิดตลาดส่งออกปลากะพงขาวไปยังจีนได้สำเร็จและหวังว่า จะมีการส่งออกผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำคุณภาพของไทยไปยังจีนเพิ่มมากขึ้น นอกจากนี้ GACC ยังอยู่ระหว่างพิจารณาเรื่องการเปิดตลาดให้ไทยส่งออกโคมีชีวิตและผลิตภัณฑ์ไปยังจีนได้ซึ่งกรมปศุสัตว์เดินหน้าเจรจายกระดับเปิดตลาดมาอย่างต่อเนื่องและจะมีความร่วมมือในระยะอันใกล้นี้

นอกจากนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ ยังพบกับนายหม่า เจิงจวิน ประธานสมาคมตลาดค้าส่งสาธารณรัฐประชาชนจีน (China Agriculture Wholesale Market Association : CAWA) เพื่อแสวงหาโอกาสในการค้าสินค้าเกษตรของไทย โดยบริษัท CAWA นำเข้าสินค้าเกษตรต่างๆ จากไทย เช่น ทุเรียน มังคุด ลำไย โดยมีการนำเข้าทุเรียนมากที่สุด รวมมูลค่า 83 ล้านหยวน ทุเรียนเป็นผลไม้ที่มีอัตราการเติบโตสูงที่สุดในตลาดจีน โดยมีปริมาณการนำเข้าทุเรียนสดเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง รวมไปถึงกุ้งขาวแวนนาไมจากไทย 177.3 ตัน คิดเป็นมูลค่า 10.61 ล้านหยวน โดยตั้งแต่จีนระงับการนำเข้าสินค้าประมงจากญี่ปุ่น CAWA เห็นว่า ไทยจะมีโอกาสในการส่งออกสินค้าประมงเพิ่มมากขึ้น บริษัท CAWA ขอให้ภาครัฐส่งเสริมและสนับสนุนการส่งรังนกที่มีคุณภาพดีของไทยมายังจีน เพื่อเพิ่มทางเลือกให้กับผู้บริโภคชาวจีน

ปัจจุบัน บริษัท CAWA ได้นำเทคโนโลยี เช่น รหัสติดตาม (traceability code) เพื่อสร้างความมั่นใจให้ผู้บริโภคในจีนซึ่งสามารถสแกนรหัสและรู้ได้ทันทีว่า สินค้านี้มาจากประเทศไหน การสร้างระบบแหล่งที่มาของสินค้าให้เป็นมาตรฐาน เพื่อให้สามารถแข่งขันกับประเทศอื่นๆ ได้ในอนาคต และเพื่อให้สามารถสร้างความได้เปรียบด้านแบรนด์ที่สำคัญในรสชาติและความประทับใจของผู้บริโภคชาวจีน

นางนฤมล กล่าวเพิ่มเติมว่า ตลาดจีนยังมีความต้องการสินค้าเกษตรที่มีคุณภาพจากไทยซึ่งจะเป็นโอกาสให้ผู้ผลิตและผู้ประกอบการสามารถขยายตลาดไปยังจีนได้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์จึงเร่งส่งเสริมการผลิตสินค้าเกษตรคุณภาพที่ตรงกับความต้องการของตลาด รวมทั้งการเจรจาเปิดตลาดและขยายตลาดส่งออกอย่างต่อเนื่องเพื่อเพิ่มรายได้ให้แก่เกษตรกรไทย