xs
xsm
sm
md
lg

กรมควบคุมมลพิษหนุนท้องถิ่นเร่งแก้ปัญหาน้ำเสียหาดกมลา

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



นางสาวปรีญาพร สุวรรณเกษ อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ เปิดเผยว่า​ ได้เร่งตรวจสอบ​เหตุการณ์​น้ำเสียไหลลงทะเลบริเวณหาดกมลา​ จังหวัด​ภูเก็ต​ ตามข้อห่วงใย​ของ​นายเฉลิม​ชัย​ ศรี​อ่อน​ รัฐมนตรี​ว่าการ​กระทรวง​ทรัพยากร​ธรรมชาติ​และ​สิ่ง​แวดล้อม

กรมควบคุมมลพิษมอบหมายให้สำนักงานสิ่งแวดล้อมและควบคุมมลพิษที่ 15 ภูเก็ต (สคพ. 15) ร่วมกับสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดภูเก็ต จังหวัดภูเก็ต อบต.กมลา และองค์การจัดการน้ำเสีย (อจน.) เข้าตรวจสอบข้อเท็จจริงเมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2568 พบน้ำเสียบริเวณหาดกมลาไหลมาจากคลองสาธารณะที่รับน้ำเสียจากชุมชน น้ำในคลองเป็นสีขาวขุ่นช่วงตอนบนและมีสีดำช่วง 250 เมตร ของคลองก่อนไหลลงทะเล มีกลิ่นเหม็น ท้องคลองมีสีดำ

พื้นที่ อบต.กมลา มีระบบบำบัดน้ำเสียรวมชุมชนที่บริหารจัดการโดย อจน. รับน้ำเสียได้ 1,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน ปัจจุบันมีน้ำเสียเข้าระบบ 300 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน (ร้อยละ 30) เนื่องจากสถานีสูบน้ำเสียมีระดับสูงกว่าระดับน้ำเสีย

นางสาวปรีญาพร กล่าวว่า กรมควบคุมมลพิษได้เสนอแนะการแก้ไขปัญหาทั้งระยะเร่งด่วนและระยะยาว โดยระยะเร่งด่วน ให้ อบต.​ กมลา ฉีดพ่นจุลินทรีย์ในลำคลองและบริเวณชายหาดอย่างต่อเนื่องเพื่อลดกลิ่น และปรับวิธีเป็นการหยดจุลินทรีย์โดยวางถังจุลินทรีย์ริมคลองเป็นระยะๆ แทนการฉีดพ่น ที่จะช่วยลดกลิ่นได้ดียิ่งขึ้น ให้ อจน. เพิ่มการรวบรวมน้ำเสียเข้าระบบให้มากขึ้น โดย อจน.ได้ติดตั้งเครื่องสูบน้ำ (ชั่วคราว) เร่งสูบน้ำเสียเข้าระบบบำบัดน้ำเสียได้เพิ่มมากขึ้นอีก ประมาณ 60 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน ให้ อบต.กมลา ตรวจสอบการระบายน้ำเสียจากสถานประกอบกิจการตู้ซักผ้าหยอดเหรียญและโรงแรมในพื้นที่ โดยรายงานให้ที่ปรึกษาผู้ว่าราชการจังหวัดทราบภายในวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2568 เพื่อวางแผนควบคุมการระบายน้ำเสีย

สำหรับการแก้ไขปัญหาในระยะยาว อจน. มีแผนเพิ่มสถานีสูบน้ำเสียในพื้นที่ชุมชน 2 สถานี เพื่อสูบน้ำเสียที่เกิดขึ้นให้เข้าระบบมาบำบัดได้ทั้งหมดและเพิ่มประสิทธิภาพระบบรวบรวมน้ำเสียให้สามารถรวบรวมน้ำเสียเข้าระบบให้ได้เต็มประสิทธิภาพของระบบบำบัดน้ำเสีย พร้อมทั้งให้ อบต. กมลา ตรวจสอบและควบคุมการระบายน้ำเสียจาสถานประกอบกิจการตู้ซักผ้าหยอดเหรียญและโรงแรม และควรมีการขุดลอกตะกอนในคลองประจำปี

หากประชาชนพบเห็นการระบายน้ำเสีย หรือของเสียลงแหล่งน้ำสาธารณะ ขอให้แจ้งมาที่สายด่วน 1650 ทั้งนี้ กรมควบคุมมลพิษจะติดตามตรวจสอบคุณภาพสิ่งแวดล้อมและให้คำปรึกษาในการแก้ไขปัญหาอย่างต่อเนื่องและเกิดความยั่งยืน