xs
xsm
sm
md
lg

สวนดุสิตโพลชี้คนเลือกตั้งนายก อบจ.ไม่เยอะ ติดธุระ เดินทางไม่สะดวก การพัฒนาพื้นที่ต้องดูระยะยาว

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



"สวนดุสิตโพล" มหาวิทยาลัยสวนดุสิต เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นประชาชนที่มีสิทธิเลือกตั้งท้องถิ่นทั่วประเทศ เรื่อง "ควันหลงเลือกตั้งท้องถิ่น" กลุ่มตัวอย่างจำนวน 1,386 คน (สำรวจทางออนไลน์และภาคสนาม) ระหว่างวันที่ 4-7 กุมภาพันธ์ 2568 สรุปผลได้ดังนี้

1. ประชาชนไปเลือกตั้งนายก อบจ. เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2568 ที่ผ่านมาหรือไม่

อันดับ 1 ร้อยละ 63.28 ระบุ ไป
อันดับ 2 ร้อยละ 36.72 ระบุ ไม่ได้ไป
เพราะ ติดภารกิจ ต้องทำงาน ที่พักอาศัยปัจจุบันอยู่คนละพื้นที่กับเขตเลือกตั้ง ใช้เวลาในการเดินทางนาน

2. ประชาชนคิดว่าสาเหตุที่ทำให้จำนวนผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้งครั้งนี้น้อยกว่าที่คาดการณ์

อันดับ 1 ร้อยละ 68.99 ระบุ ติดธุระ ไม่สะดวกในการเดินทางไปใช้สิทธิ
อันดับ 2 ร้อยละ 47.18 ระบุ ตรงกับวันเสาร์
อันดับ 3 ร้อยละ 33.49 ระบุ ผู้สมัครไม่น่าสนใจ/ไม่มีทางเลือกที่ดีพอ

3. ประชาชนเห็นว่าการเลือกตั้งท้องถิ่นกับการเลือกตั้งระดับชาติมีความเหมือนหรือแตกต่างกันอย่างไร

อันดับ 1 ร้อยละ 52.89 ระบุ แตกต่างกัน
เพราะ ผู้สมัครท้องถิ่นเป็นคนในพื้นที่ รู้และเข้าใจปัญหาของชุมชนได้ดี มีความใกล้ชิดประชาชนมากกว่า

อันดับ 2 ร้อยละ 47.11 ระบุ เหมือนกัน
เพราะ นโยบายและวิธีการหาเสียงคล้ายกัน มีพรรคการเมืองสนับสนุนเหมือนกัน ประชาชนมีสิทธิออกไปใช้เสียงเหมือนกัน

4. สิ่งที่ได้เรียนรู้จากการเลือกตั้งนายก อบจ. ครั้งนี้

อันดับ 1 ร้อยละ 54.91 ระบุ ประชาชนมีแนวคิดใหม่ๆ ในการเลือกผู้บริหารท้องถิ่น
อันดับ 2 ร้อยละ 51.15 ระบุ การเข้าถึงปัญหาท้องถิ่นโดยแท้จริงเป็นเรื่องสำคัญกว่ากระแส
อันดับ 3 ร้อยละ 42.93 ระบุ การคัดเลือกตัวผู้สมัครมีผลต่อคะแนนเสียง

5. ประชาชนคิดว่าผลการเลือกตั้งนายก อบจ. ครั้งนี้ จะส่งผลต่อการพัฒนาพื้นที่จังหวัดของท่านมากน้อยเพียงใด

อันดับ 1 ร้อยละ 26.98 ระบุ ไม่แน่ใจ อาจต้องรอดูผลลัพธ์ในระยะยาว
อันดับ 2 ร้อยละ 25.32 ระบุ ส่งผลในระดับหนึ่ง อาจมีการเปลี่ยนแปลงบางด้าน
อันดับ 3 ร้อยละ 20.07 ระบุ ส่งผลน้อย ไม่คาดหวังการเปลี่ยนแปลงมากนัก
อันดับ 4 ร้อยละ 16.45 ระบุ ไม่ส่งผลเลย ทุกอย่างน่าจะเหมือนเดิม
อันดับ 5 ร้อยละ 11.18 ระบุ ส่งผลอย่างมากและเห็นการเปลี่ยนแปลงที่ชัดเจน

นางสาวพรพรรณ บัวทอง ประธานสวนดุสิตโพล ระบุว่า ควันหลงการเลือกตั้งท้องถิ่นครั้งนี้สะท้อนถึงความซับซ้อนของอำนาจในแต่ละพื้นที่ ผู้ใช้สิทธิที่ลดลงจากความไม่สะดวกและการเลือกตั้งที่ตรงกับวันเสาร์ และการตั้งคำถามถึงการประชาสัมพันธ์ของ กกต. สร้างความสงสัยให้กับประชาชน สำหรับพรรคการเมืองที่ลงสนามแบบเปิดหน้า การเลือกตั้งครั้งนี้ชี้ให้เห็นชัดว่า ประชาชนต้องการ "ผู้นำใกล้ชิด" และ "เข้าใจพื้นที่" มากกว่าผู้นำในเชิงนโยบายกว้างๆ ซึ่งแตกต่างจากการเมืองระดับชาติ