กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) รายงานผลการมอนิเตอร์และรับแจ้งข่าวปลอมของศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม ระหว่างวันที่ 31 มกราคม - 6 กุมภาพันธ์ 2568 พบข้อความที่เข้ามาทั้งหมด 831,692 ข้อความ โดยมีข้อความที่ต้องดำเนินการตรวจสอบ (Verify) ทั้งสิ้น 418 ข้อความ
สำหรับช่องทางที่มีการพบเบาะแสมากที่สุด คือ ข้อความที่มาจาก Social Listening จำนวน 382 ข้อความ ตามมาด้วยการแจ้งเบาะแสผ่าน Line Official จำนวน 36 ข้อความ รวมเรื่องที่ต้องดำเนินการตรวจสอบทั้งหมด 146 เรื่อง และจากการประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้รับผลการตรวจสอบกลับมาแล้ว 66 เรื่อง
นายเวทางค์ พ่วงทรัพย์ เลขาธิการคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ในฐานะโฆษกกระทรวงดีอี กล่าวว่า ในสัปดาห์นี้ข่าวปลอมที่ได้รับความสนใจในลำดับต้นๆ พบว่า เป็นข่าวเกี่ยวกับเรื่องสุขภาพ ผลิตภัณฑ์สุขภาพ รองลงมาเป็นเรื่องการให้บริการที่เกี่ยวข้องกับหน่วยงานรัฐ ซึ่งทั้งหมดมีผลกระทบต่อประชาชน ทำให้เกิดความเข้าใจผิด ความเชื่อผิดๆ และความวิตกกังวลได้ โดยในส่วนของข่าวปลอมที่เกี่ยวข้องกับการให้บริการของหน่วยรัฐ อาจมีความเสี่ยงทำให้สูญเสียข้อมูลส่วนบุคคล และทรัพย์สิน ซึ่งหากมีการแชร์ส่งต่อกันไปในสังคม อาจส่งผลกระทบกับประชาชนทั่วประเทศเป็นวงกว้าง
สำหรับ 10 อันดับข่าวที่ได้รับความสนใจมากที่สุด ได้แก่
อันดับที่ 1 : เรื่อง ลูกแม็กเย็บกระดาษสามารถทำเป็นขาเทียมได้
อันดับที่ 2 : เรื่อง น้ำดื่มมีกลิ่นคลอรีน อาจเป็นสัญญาณของน้ำไม่สะอาด
อันดับที่ 3 : เรื่อง การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ส่ง SMS แจ้ง QR Code รับเงินคืนค่าประกันมิเตอร์
อันดับที่ 4 : เรื่อง เปิดทำใบขับขี่ออนไลน์ สำหรับบุคคลที่ไม่เคยมีใบขับขี่มาก่อน ผ่านเพจ DLT E-Learning
อันดับที่ 5 : เรื่อง ทำใบขับขี่ออนไลน์ ออกบัตรโดยเจ้าหน้าที่ขนส่ง ราคาเริ่มต้น 1,500 บาท
อันดับที่ 6 : เรื่อง ธนาคารออมสิน ปล่อยสินเชื่อผ่านแอปฯ กู๊ดมันนี่ กู้ 10,000 บาท ผ่อน 500 บาท
อันดับที่ 7 : เรื่อง กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ร่วมจัดงาน Miss One Earth 2026
อันดับที่ 8 : เรื่อง ผลิตภัณฑ์ ACTIVE HERBALS hair promoting shampoo และ ACTIVE HERBALS hair promoting tonic กระตุ้นผมงอกใหม่ เสกลูกผมขึ้นใหม่ทดแทนการใช้ยา
อันดับที่ 9 : เรื่อง ออมสิน ประกาศยกเลิกเครดิตบูโร ช่วยปิดหนี้สูงสุด 2 ล้านบาท
อันดับที่ 10 : เรื่อง +6971065899704647 เป็นเบอร์โทรของไปรษณีย์ไทย
สำหรับอันดับ 1 เรื่อง "ลูกแม็กเย็บกระดาษสามารถทำเป็นขาเทียมได้" กระทรวงดีอี ได้ร่วมประสานงานกับ สมาคมคนพิการทางการเคลื่อนไหวสากล ร่วมตรวจสอบ พบว่าเป็นข้อมูลเท็จ โดยขอชี้แจงว่า ลูกแม็กเย็บกระดาษไม่สามารถทำเป็นขาเทียมได้ ซึ่งในส่วนที่สมาคมขอรับบริจาคไส้ลูกแม็ก ห่วงอะลูมิเนียมมานั้น เพื่อนำไปขายแก่บริษัทที่มารับซื้อ โดยทางบริษัทรับซื้อจะนำไปหลอมแล้วส่งขายกับบริษัทที่ผลิตและขายอุปกรณ์ ไม้เท้า ไม้ค้ำที่มีส่วนผสมเป็นอะลูมิเนียม
ส่วนข่าวปลอมอันดับ 2 เรื่อง "น้ำดื่มมีกลิ่นคลอรีน เป็นสัญญาณของน้ำไม่สะอาด" กระทรวงดีอี ได้ประสานงานร่วมกับการประปานครหลวง กระทรวงมหาดไทย ร่วมตรวจสอบ พบว่าเป็นข้อมูลเท็จ โดยขอให้ข้อมูลว่า คลอรีน (Chlorine) คือ สารเคมีประสิทธิภาพสูงที่นานาประเทศทั่วโลก ใช้เพื่อฆ่าเชื้อโรคในระบบการผลิตน้ำประปา โดยองค์การอนามัยโลก (WHO) กำหนดเกณฑ์แนะนำว่าจะต้องมีปริมาณคลอรีนอิสระคงเหลือ ตั้งแต่ 0.2 - 2 มิลลิกรัมต่อลิตร จึงจะสามารถฆ่าเชื้อโรคได้ทุกชนิด ตลอดจนสิ่งปนเปื้อน ไปจนถึงบ้านของผู้ใช้น้ำ ทั้งยังเป็นปริมาณที่ไม่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ ดังนั้น การได้กลิ่นคลอรีน จึงเป็นเครื่องพิสูจน์ได้ว่าน้ำประปาที่บ้านของท่านสะอาด ปราศจากเชื้อโรค และสามารถบริโภคได้อย่างปลอดภัย
อย่างไรก็ตาม ดีอี มีความห่วงใยประชาชน เรื่องความตระหนักรู้เท่าทันข่าวปลอมที่ถูกแพร่กระจายบนสื่อออนไลน์ โซเชียล ซึ่งหากขาดความรู้เท่าทันส่งต่อข้อมูลข่าวปลอม ทำให้เกิดการหลงเชื่อ สร้างความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน เกิดความวิตกกังวล หรืออาจสร้างความเสียหายต่อชีวิต ทรัพย์สิน หรือข้อมูลส่วนบุคคล และอาจส่งผลกระทบต่อประชาชนในสังคมเป็นวงกว้าง ดังนั้นจึงควรตรวจสอบข้อเท็จจริงของข่าวหรือลิงก์เว็บไซต์ให้แน่ชัด