xs
xsm
sm
md
lg

ศาลสหรัฐฯ สั่งระงับแผน"ทรัมป์"พักการทำงาน จนท.USAID 2,200 คน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


คาร์ล นิโคลส์ ผู้พิพากษาศาลรัฐบาลกลางสหรัฐฯ ออกคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวแบบจำกัด ตามคำร้องของสหภาพแรงงานสองแห่ง ในการระงับคำสั่งของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ผู้นำสหรัฐฯ ที่สั่งพักการทำงานโดยได้รับเงินเดือนเจ้าหน้าที่ 2,200 คน ของสำนักงานเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศของสหรัฐฯ (USAID) คำสั่งนี้ มีผลบังคับใช้เป็นเวลา 1 สัปดาห์ จนถึงเที่ยงคืนของวันที่ 14 กุมภาพันธ์นี้

ประธานาธิบดีทรัมป์ มีความเห็นว่า USAID เป็นหน่วยงานที่ให้ความช่วยเหลือต่างประเทศ ไม่ได้ใช้เงินภาษีของชาวอเมริกันอย่างคุ้มค่า จึงต้องการยุบหน่วยงาน ให้เหลือพนักงานเพียง 611 คน จากที่มีเจ้าหน้าที่ประมาณ 10,000 คน ซึ่ง 2 ใน 3 อยู่ในต่างประเทศ โดยมีราว 500 ราย ที่ถูกพักงานโดยได้รับเงินเดือนแล้ว และอีก 2,200 ราย มีกำหนดเริ่มพักงานตั้งแต่เที่ยงคืนวันศุกร์

ตามคำสั่งของผู้พิพากษานิโคลส์ ระบุว่า รัฐบาลกำลังละเมิดรัฐธรรมนูญสหรัฐฯ ทำให้เจ้าหน้าที่ได้รับอันตราย

นอกจากนี้ ผู้พิพากษายังให้พนักงาน 500 ราย ที่ถูกพักงานไปแล้วกลับมาทำงานอีกครั้ง สามารถเข้าถึงอีเมล ระบบการชำระเงิน และระบบแจ้งเตือนด้านความปลอดภัยได้จนถึงวันที่กำหนด

ทั้งนี้ สหรัฐอเมริกาเป็นผู้ให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมรายใหญ่ที่สุดในโลก งบประมาณของ USAID มีมูลค่าประมาณ 4 หมื่นล้านดอลลาร์ หรือประมาณร้อยละ 0.6 ของรายจ่ายประจำปีของรัฐบาลสหรัฐฯ ซึ่งอยู่ที่ 6,750,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

ขณะเดียวกัน นายพอล เอ. เอนเกิลเมเยอร์ ผู้พิพากษาศาลรัฐบาลกลางอีกรายหนึ่งออกคำสั่งเบื้องต้นยับยั้งแผนกประสิทธิภาพรัฐบาล (Doge) ของนายอีลอน มัสก์ ในการเข้าถึงบันทึกของกระทรวงการคลัง ซึ่งรวมถึงข้อมูลทางการเงินส่วนบุคคลของชาวอเมริกันหลายล้านคน และให้ทำลายสำเนาเอกสารทั้งหมดทันที ตามที่อัยการสูงสุดของรัฐ 19 แห่ง เป็นผู้ฟ้องรัฐบาลทรัมป์ ระบุว่านายมัสก์ เป็น "พนักงานพิเศษของรัฐบาล" แผนกประสิทธิภาพรัฐบาลยังไม่ใช่หน่วยงานรัฐบาลอย่างเป็นทางการ คำสั่งนี้จะมีผลบังคับใช้จนกว่าจะมีการพิจารณาคดีครั้งต่อไปในวันที่ 14 กุมภาพันธ์