แพทย์หญิง อัมพร เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยว่า ในช่วงที่ผ่านมาสถานการณ์ฝุ่น PM 2.5 มีค่าเกินมาตรฐานเกือบทุกพื้นที่ และจากการคาดการณ์ของกรมควบคุมมลพิษ ระหว่างวันที่ 7-13 กุมภาพันธ์ 2568 ยังพบว่าสถานการณ์ฝุ่น PM 2.5 จะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยอยู่ในระดับที่เริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ หรือระดับสีส้ม (37.6-75.0 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร) ซึ่งกลุ่มเสี่ยงที่จะได้รับผลกระทบมากคือ เด็ก หญิงตั้งครรภ์ ผู้สูงอายุ และผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคระบบทางเดินหายใจ หอบหืด เป็นต้น เนื่องจากมีความอ่อนไหวมากกว่าประชาชนทั่วไป เครื่องฟอกอากาศจึงกลายเป็นปัจจัยหนึ่งในการช่วยลดฝุ่น PM 2.5 ภายในอาคาร
กรมอนามัยจึงขอแนะนำวิธีการเลือกเครื่องฟอกอากาศให้มีประสิทธิภาพ ดังนี้ 1) เลือกเครื่องฟอกอากาศที่ใช้แผ่นกรองฝุ่นชนิด HEPA (High Efficiency Particulate Air Filter) ซึ่งใช้กรองฝุ่นขนาดเล็กที่ผ่านอากาศเข้ามา และปล่อยอากาศที่สะอาดออกมา หรืออาจเครื่องฟอกอากาศชนิดไอออน ซึ่งจะปล่อยอนุภาคประจุลบ จับฝุ่นในอากาศและร่วงสู่พื้น ทั้งนี้ ควรดูดฝุ่นหรือทำความสะอาดเพื่อกำจัดฝุ่นออกจากพื้น
2) เลือกเครื่องฟอกอากาศให้เหมาะสมกับขนาดห้อง หากมีขนาดเล็กเกินไปอาจไม่สามารถลดฝุ่นได้อย่างมีประสิทธิภาพ 3) ดูค่าอัตราการส่งอากาศสะอาด หรือค่า CADR (Clean Air Delivery Rate) ควรมีค่ามากกว่า 3 เท่าของปริมาตรห้อง หากมีค่าสูงจะกระจายอากาศสะอาดได้เร็วและมากขึ้น โดยสามารถตรวจสอบจากรายละเอียดบนกล่องบรรจุสินค้าหรือคู่มือการใช้งาน และ 4) ดูค่าความเร็วลม (Air Flow หรือ Air Volume) ยิ่งมีค่าสูงจะยิ่งฟอกอากาศได้เร็วขึ้น
ทั้งนี้ สิ่งสำคัญคือหากใช้เครื่องฟอกอากาศชนิดแผ่นกรองอากาศ ควรเปลี่ยนแผ่นกรองอากาศตามระยะเวลาที่กำหนดหรือเมื่อมีการสะสมของฝุ่นมาก โดยสังเกตจากสีหรือลมที่ออกมาจากเครื่อง หากแผ่นกรองมีสีดำหรือลมที่ออกมาจากเครื่องเบาลงควรเปลี่ยนใหม่ และควรปฏิบัติตามคำแนะนำในคู่มือการใช้งานอย่างเคร่งครัด
นายแพทย์ธิติ แสวงธรรม รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าวเพิ่มเติมว่า นอกจากการเลือกเครื่องฟอกอากาศแล้ว อีกวิธีหนึ่งที่จะช่วยให้บ้านสะอาดปราศจากฝุ่นคือ การจัดบ้านด้วยหลัก "3 ส. 1 ล." คือ "1ส สะสาง" คัดแยกและกำจัดสิ่งของที่ไม่จำเป็นออกจากบ้าน เพื่อลดการสะสมของฝุ่น โดยเฉพาะห้องที่อยู่เป็นประจำควรมีเฟอร์นิเจอร์และสิ่งของให้น้อยชิ้นที่สุด เพื่อการทำความสะอาดได้ทั่วถึงทุกซอกมุม
"2ส สะอาด" หมั่นทำความสะอาดอุปกรณ์เครื่องใช้ในบ้าน เช่น แอร์ พัดลม เครื่องฟอกอากาศ มุ้งลวด โต๊ะ ตู้ เตียง ฯลฯ และใช้ผ้าชุบน้ำเช็ดทำความสะอาดเฟอร์นิเจอร์ รวมถึงเช็ดถูพื้นและซอกมุมต่างๆ ภายในบ้าน
"3ส สร้าง" สร้างสุขนิสัยที่ดีในการดูแลและทำความสะอาดบ้านอย่างสม่ำเสมอ โดยเฉพาะในช่วงที่ฝุ่นสูง ควรเพิ่มความถี่ในการทำความสะอาดให้มากขึ้น รวมถึงสร้างสิ่งแวดล้อมที่ดีรอบบริเวณบ้าน โดยการปลูกต้นไม้ดักฝุ่น เช่น ทองอุไร ตะขบ โมก สนฉัตร เป็นต้น โดยรอบบ้าน
ส่วน "1ล ลดหรือเลี่ยง" กิจกรรมที่ก่อให้เกิดฝุ่นละอองเพิ่ม เช่น จุดธูป เทียน เผาขยะ ปิ้งย่าง และสูบบุหรี่ รวมถึงหมั่นตรวจเช็กสภาพรถยนต์ให้อยู่ในสภาพดี ไม่ก่อควันดำอีกด้วย