นายอนุกูล พฤกษานุศักดิ์ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ปัญหาการระบาดของโรคพิษสุนัขบ้าที่มีการแพร่โรคในกลุ่มโค-กระบือในประเทศไทย ปัจจุบันโรคพิษสุนัขบ้าพบการระบาดในบางพื้นที่ และพบมากในกลุ่มสุนัขจรจัด จากข้อมูลการระบาดของโรคพิษสุนัขบ้าย้อนหลัง 5 ปี พบการติดเชื้อในโคกระบือเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 26 ตัวต่อปี คิดเป็น 10-15% ของจำนวนสัตว์ที่พบติดเชื้อโรคพิษสุนัขบ้าทั้งหมดในประเทศไทย และมีสาเหตุการติดเชื้อมาจากการถูกสุนัขกัด ซึ่งพบมากในแถบภาคอีสานและใต้ของประเทศไทย ทั้งนี้ ยังไม่พบการรายงานการแพร่ระบาดจากโคสู่โคร่วมฝูงหรือสู่เกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์
นอกจากนี้ องค์การอนามัยโลก (WHO) ออกประกาศเตือนว่า การรับประทานเนื้อโคที่ติดเชื้อโดยไม่ผ่านการปรุงสุก อาจมีความเสี่ยงต่อการติดโรคพิษสุนัขบ้า ดังนั้น หากมีการบริโภคเนื้อสัตว์ที่ติดเชื้อ ควรเข้ารับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าโดยด่วน อย่างไรก็ตาม โอกาสติดเชื้อจากการสัมผัสหรือบริโภคเนื้อดิบถือว่าค่อนข้างน้อย
นายอนุกูล กล่าวต่อว่า กรมปศุสัตว์ได้ดำเนินมาตรการเฝ้าระวังและควบคุมการแพร่ระบาดของโรคพิษสุนัขบ้าอย่างเข้มงวด โดยลงพื้นที่สอบสวนโรคทันที เมื่อพบการระบาด ฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าให้สุนัขและแมวทุกตัว รอบจุดเกิดโรค ติดตามหาคนหรือสัตว์ที่ถูกกัด ภายในรัศมี 5 กิโลเมตร จากจุดเกิดโรค กักสัตว์ที่ถูกกัดหรือสัมผัสเชื้อ รวมถึงโคกระบือในฝูงที่พบโรค เพื่อดูอาการ 15 วัน พร้อมฉีดวัคซีน จับกุมสุนัขจรจัดในพื้นที่ต้องสงสัย เพื่อนำมากักดูอาการ ทำหมัน และฉีดวัคซีน ประกาศเขตโรคระบาดสัตว์ชั่วคราว เป็นเวลา 30 วัน และเฝ้าระวังโรคต่อเนื่องนาน 6 เดือน และ ประชาสัมพันธ์ให้ความรู้ประชาชน เรื่องการป้องกันและควบคุมโรคพิษสุนัขบ้า
สำหรับกรณีที่จำเป็นต้องทำลายปศุสัตว์ที่สงสัยติดเชื้อ กรมปศุสัตว์จะจ่ายเงินชดเชย 3 ใน 4 ของราคาสัตว์ ตาม พ.ร.บ.โรคระบาดสัตว์ นอกจากนั้น กรมปศุสัตว์ยังบูรณาการแก้ปัญหาสุนัข-แมวจรจัด เพื่อแก้ปัญหาต้นตอของโรค โดยได้ร่วมมือกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ดำเนินมาตรการควบคุมจำนวนประชากรสุนัขและแมว ด้วยการผ่าตัดทำหมันสุนัขและแมว ฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าให้ครอบคลุมมากกว่า 80% ทุกปี ศึกษาวิจัยและบริหารจัดการปัญหาสุนัขจรจัดร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และให้ความรู้ประชาชนเรื่องการเลี้ยงสัตว์อย่างรับผิดชอบ
ทั้งนี้ หากประชาชนพบเห็นสุนัข แมว หรือปศุสัตว์ แสดงอาการต้องสงสัยโรคพิษสุนัขบ้า สามารถแจ้งเจ้าหน้าที่อาสาปศุสัตว์ อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน เจ้าหน้าที่ปศุสัตว์ในพื้นที่ หรือสายด่วนกรมปศุสัตว์ 063-225-6888 หรือแอปพลิเคชัน DLD 4.0 เพื่อให้เข้าตรวจสอบและเก็บตัวอย่างส่งตรวจวินิจฉัยทางห้องปฏิบัติการ และเข้าดำเนินการควบคุมโรคได้ทันที