นายธนกร วังบุญคงชนะ อดีตรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี รองหัวหน้าพรรคและ สส.บัญชีรายชื่อ พรรครวมไทยสร้างชาติ กล่าวว่า หลังจากที่นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภา ได้บรรจุระเบียบวาระการประชุมร่วมกันของรัฐสภาในวันที่ 13 -14 กุมภาพันธ์นี้ เพื่อพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติมการแก้ไขมาตรา 256 เพื่อเปิดทางยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่โดยสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ซึ่งมีการเสนอมา 2 ร่าง คือร่างของพรรคเพื่อไทย กับร่างของพรรคประชาชนนั้น ตนไม่เห็นด้วยและคัดค้านมาโดยตลอด โดยเฉพาะร่างของพรรคประชาชน เรื่องการแก้ไขในมาตรา 256 (8) แก้ไขเพิ่มเติมหมวด 1 บททั่วไป และหมวด 2 พระมหากษัตริย์ รวมถึงเรื่องเกี่ยวกับหน้าที่หรืออำนาจศาลหรือองค์กรอิสระ ซึ่งที่มีอยู่ถือว่าดีอยู่แล้ว
นอกจากนี้ ในการเสนอแก้ไขมาตรา 256 (6) ตนก็ขอคัดค้านที่จะมีการถอดอำนาจของวุฒิสภาที่จะต้องใช้เสียงในการเห็นชอบการแก้ไขรัฐธรรมนูญในวาระ 1 กับวาระที่ 3 จำนวน 1 ใน 3 ออกในการเห็นชอบผ่านร่าง เพราะเป็นการริบอำนาจ สว. อย่างชัดเจน ซึ่งขัดต่อเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญเรื่องอำนาจหน้าที่การตรวจสอบถ่วงดุลของสมาชิกรัฐสภา
ทั้งนี้ ยังมีสิ่งที่สำคัญที่สมาชิกรัฐสภาทุกคนจะต้องพิจารณาอย่างละเอียดรอบคอบร่วมกัน คือ คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ 4 / 2564 ที่เป็นบรรทัดฐานไว้แล้วว่า ในการแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญทั้งฉบับต้องจัดทำประชามติก่อน และหลังจากการแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ หากไม่ทำประชามติท้ายที่สุดจะมีปัญหาภายหลังเรื่องความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของร่างรัฐธรรมนูญที่มีการแก้ไขเพิ่มเติมตามมาอย่างแน่นอน เนื่องจากรัฐธรรมนูญฉบับ ปี 2560 ผ่านการทำประชามติมาแล้ว หากจะมีการแก้ไขและยกร่างฉบับใหม่ ก็ต้องได้รับความเห็นชอบจากประชาชนก่อน
นายธนกร ย้ำว่า ตนย้ำจุดยืนชัดเจนมาตลอดว่า แก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตราสามารถแก้ได้ แต่ต้องไม่แตะหมวด 1 หมวด 2 ที่เกี่ยวกับพระมหากษัตริย์ และหากจะยกร่างทั้งฉบับโดยไม่ทำประชามติ ขอเตือนว่าเป็นความสุ่มเสี่ยงอย่างมาก ทั้งต่อผู้เสนอร่าง และสมาชิกรัฐสภาที่ร่วมพิจารณาเห็นชอบร่างด้วย ซึ่งสุ่มเสี่ยงที่จะถูกฟ้องเอาผิดฐานละเว้นหรือปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 และฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมร้ายแรง และอาจถูกส่งให้ ป.ป.ช. ถอดถอนได้ ตนเชื่อว่า ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 256 ครั้งนี้ คงยากที่จะผ่านความเห็นชอบของรัฐสภา เพราะอยู่บนฐานความเสี่ยง