นายสมบัติ บุญงามอนงค์ มูลนิธิกระจกเงา โพสต์เฟซบุ๊ก ระบุว่า “ทำไมผมไปลำพูน ?
ไม่คิดว่าเรื่องเล่าที่จะไปดับไฟที่ลำพูน กลายเป็นประเด็นถกเถียงกันถึงขนาดนี้ ผมขออนุญาตอธิบายเพิ่มเติม ในส่วนวิธีคิดของอาสาดับไฟป่า มูลนิธิกระจกเงา ในการทำงานเชิงพื้นที่
เราเป็นทีมดับไฟป่าภาคประชาชนที่มีฐานอยู่ที่เชียงราย แต่ในบางปีและบางช่วงที่ไฟที่เชียงรายมีน้อย และทีมดับไฟภาครัฐในพื้นที่รับมือได้ เราก็จะยกทีมไปดับไฟในพื้นที่อื่น ไม่ว่าจะลำปาง น่าน แพร่ เชียงใหม่ โดยเฉพาะเชียงใหม่ในฤดูไฟป่าปีที่แล้ว เราดับไฟอยู่ที่นั่นเกือบ 2 เดือน
เราพยายามบอกเล่าปัญหาการจัดการไฟป่าจากประสบการณ์ที่เราอยุ่หน้างาน ลงมือปฏิบัติจริง บอกเล่าทั้งข้อจำกัดเรื่องอุปกรณ์ดับไฟป่าที่ไม่เพียงพอ ตั้งแต่โดรนตรวจจับความร้อน เครื่องเป่า จนถึงรองเท้าดับไฟป่า
ผมเคยมีส่วนร่วมในการช่วยเขียนรายการอุปกรณ์สำหรับดับไฟป่าให้ อบจ เชียงราย และ อบจ เชียงใหม่ และรู้ว่าท้องถิ่นเป็นองค์กรหนึ่งที่มีงบประมาณและมีภาระหน้าที่ในการจัดการปัญหาไฟป่า เพียงแต่ว่าเขาอาจมองว่าเขาไม่ใช่ตัวหลัก
เมื่อพรรคประชาชนชนะการเลือกตั้ง นายก.อบจ ลำพูน เขาอยากพัฒนาทีมอาสาดับไฟป่า เขาจึงติดต่อมา แต่กว่าเขาจะเข้ารับตำแหน่งคือ 1 มี.ค.และแม้จะคุยกันว่า อบจ.ลำพูน จะเปิดรับสมัคร จนท ดับไฟป่าขึ้นมาอำเภอละ 1 ทีม เฉพาะพื้นที่ๆ ติดป่า แต่การบริหารทีมดับไฟป่าจำเป็นจะต้องมีประสบการณ์และมีระบบการสั่งการ ทำให้ปีนี้คาดว่า แม้จะมีกำลังคนในพื้นที่ แต่ขาดระบบการสั่งการ จึงได้ประสานพูดคุยว่าจะส่งตัวหลักมาช่วยเป็นหัวหน้าชุดให้ก่อนได้หรือไม่
ผมเห็นว่านี่เป็นปรากฎการณ์ที่น่าสนใจ ที่ท้องถิ่นคิดอ่านจะพัฒนาทีมดับไฟป่าของตนเองขึ้นภายใต้ทรัพยากรที่มี จึงรับปากว่าจะไปช่วยผลักดันและถ่ายทอดประสบการณ์
ทีนี้ปัญหาคือ หัวหน้าทีมไม่พอที่จะทำให้ทีมทำงานเป็นทีมได้ จำเป็นที่จะต้องยกเอาทีมใหญ่มาช่วยเป็นตัวหลักให้ก่อน แล้วเอา จนท ดับไฟของ อบจ ลำพูนมาร่วม แล้วจะเห็นกลไกการทำงานทั้งการสั่งการและวิธีการทำงานหน้าไฟ เมื่อทีมท้องถิ่นมีประสบการณ์แล้ว ก็จะสามารถบริหารจัดการได้ด้วยตนเอง พวกเราก็จะได้เคลื่อนกำลังไปช่วยในพื้นที่อื่นต่อไป
ตอนนี้ไฟทางเหนืออยู่ที่ตากและอุตรดิตถ์ เป็นไฟขนาดใหญ่ ภายในไม่กี่วันนี้ จะมีการเคลื่อนกำลัง อาสาดับไฟป่า มูลนิธิกระจกเงา ไปที่จังหวัดตากก่อน ซึ่งอยู่ติดกับลำพูน และหากสถานการณ์ที่เชียงใหม่รุนแรงขึ้น ก็จะส่งกำลังไปช่วยเช่นกัน
จริงๆ แล้ว ทรัพยากรส่วนใหญ่ในการดับไฟถูกกระจุกอยู่ในเมืองใหญ่อย่างเชียงใหม่ เพราะที่นั่นมีประชากรอยู่หนาแน่น แต่เมืองขนาดเล็กก็ควรได้รับโอกาสในการสนับสนุนเช่นกัน ปีนี้ที่ลำพูนเพราะเขาติดต่อมา ปีหน้าท้องถิ่นไหนติดต่อมาก็ยินดีไปช่วยครับ หากมองว่านี่เป็นการแก้ปัญหาของประชาชน เราตาบอดสี (การเมือง)บ้างก็ได้ เมื่อวานทีมงานที่ปรึกษาของ รมว กระทรวงทรัยากรและสิ่งแวดล้อม ก็แวะมาคุยกับผมที่ออฟฟิตเรื่องไฟป่าและการบริหารจัดการเชื้อเพลิงที่มีข้อโต้แย้งกัน”