xs
xsm
sm
md
lg

“จตุพร”ถอดบทเรียนเลือกตั้งนายก อบจ. เชื่อ“ทักษิณ”แพ้ความเงียบกลุ่มอิสระหาเสียงเข้าถึงประชาชน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



นายจตุพร พรหมพันธุ์ วิทยากรคณะหลอมรวมประชาชน เฟซบุ๊กไลฟ์ว่า ทักษิณ ชินวัตร และพรรคเพื่อไทย ย่ามใจปั่นกระแสพรรค เปิดยุทธการตีซ้ำ ด้อยค่า มองข้ามความไว้เนื้อเชื่อใจของคนท้องถิ่นเทเสียงเลือก สส.พรรค จึงส่งผลให้แพ้เลือกตั้งนายก อบจ.ต่อผู้สมัครไม่สังกัดพรรค

นายจตุพร กล่าวว่า ผู้สมัครนายก อบจ. ทั้ง 76 จังหวัดนั้น ผู้สมัครอิสระไม่สังกัดพรรคการเมืองจะได้รับเลือกตั้งมากกว่าผู้สมัครสังกัดพรรค ส่วนการแข่งกันระหว่างพรรคการเมืองกันจริงๆ มีไม่กี่จังหวัด เช่น เชียงใหม่ ลำพูน ปราจีนบุรี ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการต่อสู้กันระหว่างพรรคเพื่อไทยกับพรรคประชาชน

ส่วนที่เหลือ ล้วนลงในนามอิสระโดยตั้งกลุ่มเฉพาะในท้องถิ่นจังหวัดของตัวเองทั้งสิ้น ดังนั้น พรรคการเมืองแพ้ จึงแพ้ให้กับกลุ่มที่ไม่สมัครในนามพรรค แต่มีพรรคการเมืองบางพรรคแอบหนุนหลังอยู่

อย่างไรก็ตาม การเลือกตั้งท้องถิ่นถัดไปจะเป็นเลือกนายกเทศบาลนคร เมือง ตำบล และ อบต. ซึ่งการแข่งขันคงต่อสู้ไม่แตกต่างจากเลือกนายก อบจ. โดยผู้สมัครพรรคการเมืองต้องสู้กับกลุ่มอิสระท้องถิ่นในระดับเลือกนายกเทศบาลนครและเมือง ดังนั้น คงเป็นการแข่งขันกันหนักหน่วง เพราะพรรคการเมืองสามารถสแกนเสียงในพื้นที่ แล้วประเมินคะแนนของพรรคตัวเองและพรรคคู่แข่ง โดยนำผลการเลือกนายก อบจ.มาตั้งต้นต่อสู้ให้ได้คะแนนเสียงเพิ่มขึ้นในแต่ละพื้นที่

"การแข่งขันทางการเมืองเป็นทั้งศาสตร์และศิลป์ถ้าพรรคการเมืองสู้ตามรอยทางเสียง สส. และการเลือกนายก อบจ. โดยชูกระแสพรรคมาหาเสียง ผลย่อมออกมาแพ้ ดังนั้น สนามท้องถิ่นต่อไป อาจลดทอนใช้กระแสพรรคมาต่อสู้ในการเลือกนายกเทศบาลนครและเมือง แล้วเสนอนโยบายที่คนท้องถิ่นจับต้องได้

นอกจากนี้ ในการเลือก นายก อบจ.ที่ผ่านมา สิ่งที่เห็นชัดเจนคือ เชียงรายกับศรีสะเกษ ที่หาเสียงในนามพรรคเพื่อไทย และทักษิณ ลงพื้นที่เชียงรายถึงสองครั้ง ส่วนศรีสะเกษอยู่ถึงสองวัน ยังแพ้ทั้งสองจังหวัด ดังนั้น หากเปรียบกับการชูยุทธการไล่หนูตีงูเห่าในคราวเลือกตั้ง สส.ศรีสะเกษ พรรคเพื่อไทยได้รับเลือกตั้งถึง 7 คนจาก 9 คน ส่วนพรรคภูมิใจไทยได้ สส.ไป 2 คน

อย่างไรก็ตาม ยุทธการไล่หนูตีงูเห่าในช่วงเลือกตั้ง สส. หลังนำทัพใหญ่ลงหาเสียงแล้ว ยังมีทีมรองฝังตัวเฝ้าเกาะติดพื้นที่ และปลุกกระแสให้เสียงอยู่เพื่อไทย เมื่อเลือกตั้งเสร็จเกิดจับมืออำนาจตั้งรัฐบาลข้ามขั้ว แล้วพรรคเพื่อไทยทำหน้าเฉยอ้างเป็นเทคนิคการหาเสียง ซึ่งแสดงถึงการด้อยค่าความไว้เนื้อเชื่อใจของคนท้องถิ่น

ในการเลือกตั้งนายก อบจ.ทักษิณ ชูยุทธการไล่หนูตีงูเห่าซ้ำอีก กลับเกิดปัญหาคะแนนเสียงหาย เพราะพรรคกับคนเสื้อแดงจัดควมสัมพันธ์ลักษณะห่างเหินต่อกัน และพรรคไม่ให้คุณค่ากับเสียงคนในพื้นที่จนผลออกมาแพ้ราบคาบ

นอกจากนี้ เสียงคนศรีสะเกษ ยังปรับตัว เปลี่ยนยุทธวิธีแสดงถึงคุณค่าของเสียงในพื้นที่ โดยยกป้ายต่อต้านกาสิโนและการพนันออนไลน์ในวันที่ทักษิณ ไปหาเสียงแบบค้างคืนสองวัน ดังนั้น ช่องว่างระหว่างพรรคกับเสียงพื้นที่จึงเหินห่างกัน โดยสะท้อนจากเสียงอิสระไม่สมัครในนามพรรคได้คะแนนเสียงท่วมท้น

อย่างไรก็ตาม หากผู้สมัครอิสระที่ชนะเลือกตั้งนายก อบจ. ลงในนามพรรคภูมิใจไทยเสียงอาจออกมาคู่คี่กัน ดังนั้นยุทธวิธีไม่สมัครในนามพรรคภูมิใจไทยจึงสอดคล้องกับความต้องการของเสียงในพื้นที่และถูกต้องที่ยึดพื้นที่เป็นเป้าหมาย โดยพรรคไม่ได้สั่งการพื้นที่จึงสะท้อนถึงการให้คุณค่า และทำให้ชนะ

นายจตุพร กล่าวว่า พรรคภูมิใจไทยใช้ความเงียบหาเสียงในพื้นที่ ไม่มีการตั้งเวทีใหญ่ให้คนของพรรคจากส่วนกลางไปช่วยหาสียง ส่วนอีกพรรคสร้างภาพใหญ่โต เสียงดังกระฉ่อน ระดมขนคนมาฟังปราศรัยเป็นหมื่นๆ คน แต่ผลลัพธ์ออกมาแพ้ราบคาบ

“ดังนั้น ความเงียบเป็นความน่ากลัวทางการเมือง ส่วนพรรคเสียงดังทางการเมือง สร้างเวทีใหญ่ ขนคนมาฟังทัพใหญ่หาเสียงอาจประความสำเร็จได้บางแต่ไม่ทุกครั้งไป แม้การปั่นกระแสอาจมีส่วนทำให้เกิดกระแสเสียงดัง แต่ถ้าเป็นกระแสช้ำแบบไล่หนูตีงูเห่า และไม่จับมือกับใคร ย่อมถูกหัวเราะใส่หน้า”

นายจตุพร กล่าวว่า พรรคเพื่อไทยใช้ยุทธวิธีซ้ำที่เคยชนะเลือกตั้ง สส.ศรีสะเกษ มาหาเสียงนายก อบจ. จึงทำให้คนพื้นที่ต้องคิดและเลือกว่า จะฉลาดหรือโง่ซ้ำกับการอ้างหลังเลือกตั้งว่าเป็นเทคนิคหาเสียง จึงเป็นบทเรียนการหาเสียงแบบเอาความไว้เนื้อเชื่อใจของคนมา ละเลงเล่น สิ่งนี้คนพื้นที่ย่อมคิดได้จะมาทำซ้ำในสิ่งไม่จริงกับคนศรีสะเกษได้่อย่างไรกัน

ส่วนเลือกนายก อบจ. พื้นที่เชียงราย ผู้สมัครไม่สังกัดพรรคการเมืองต้องสู้กับผู้สมัครพรรคเพื่อไทย ที่ขนทัพใหญ่อย่างทักษิณไปช่วยหาเสียงบนตั้งเวทีใหญ่ พร้อมขนคนเป็นหมื่นมาฟังปราศรัยไม่แตกต่างจากศรีสะเกษ แต่ผู้สมัครอิสระไม่สังกัดพรรคกลับหาเสียงเงียบๆ ตั้งเวทีเล็กๆ ปราศรัย และผู้สมัครพูดหาเสียงด้วยตัวเอง เน้นไปหาประชาชนในพื้นที่ถี่ๆ ทุกวัน แล้วผลลัพธ์ออกมาชนะใจคนพื้นที่ ได้เสียงมากมาย ซึ่งไม่เกี่ยวกับคนบ้านใหญ่หรือไม่บ้านใหญ่

"คนบ้านใหญ่ ถ้าใจแคบ ไม่ทำงานการเมืองในพื้นที่ แล้วใครจะไปเลือก ดังนั้น การหาเสียงไม่ได้อยู่ที่ตัวบ้านใหญ่ แต่เป็นบุคลิกของคนนั้นๆ อีกอย่างไม่ได้หมายความว่า บ้านใหญ่แล้วต้องใช้อิทธิพลให้คนกลัว แต่ยุคนี้ความกลัวจะตามมาด้วยการเกลียด ดังนั้น สิ่งที่ต้องใหญ่กว่าบ้านใหญ่ก็คือคนที่ได้ความรักจากประชาชน ถ้าบ้านใหญ่แล้วคนเกลียดจะมีความหมายอะไร”

นายจตุพร กล่าวว่า การเลือกตั้งระดับท้องถิ่น ทั้งนายก อบจ.นายกเทศนคร และเทศบาลเมือง ถ้าพรรคการเมืองและผู้สมัครของพรรคไม่ใกล้ชิดประชาชนกันจริงๆ โอกาสจะชนะเลือกตั้งได้ยาก เพราะการหาเสียงด้วยการปั่นกระแสพรรค ย่อมเป็นความล่องลอย จับต้องไม่ได้ และห่างเหินคนในพื้นที่ จึงไม่ได้ใจจากประชาชน รวมความแล้ว ทักษิณ-เพื่อไทยแพ้ความเงียบแต่เข้าถึงประชาชน

ประเทศไทยต้องมาก่อน