xs
xsm
sm
md
lg

รัฐบาลทรัมป์เตรียมประกาศถอนตัวจาก UNHRC พร้อมยุติสนับสนุนการเงินปาเลสไตน์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เจ้าหน้าที่ทำเนียบขาว เปิดเผยว่า รัฐบาลประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ของสหรัฐฯ จะลงนามในคำสั่งในวันนี้ (4 ก.พ.68) เรื่องการขอถอนตัวจากการเป็นสมาชิกในคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (UNHRC) พร้อมทั้งหยุดให้การสนับสนุนทางการเงินสำหรับสำนักงานบรรเทาทุกข์และจัดหางานของสหประชาชาติสำหรับผู้ลี้ภัยปาเลสไตน์ในตะวันออกใกล้ (UNRWA) หน่วยงานหลักของยูเอ็นที่รับผิดชอบการจัดหาสิ่งของบรรเทาทุกข์แก่ผู้อพยพปาเลสไตน์

การลงนามดังกล่าวเกิดขึ้นในช่วงที่นายกรัฐมนตรีเบนจามิน เนทันยาฮู ของอิสราเอล อยู่ระหว่างการเยือนกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. สหรัฐฯ และจะพบกับนายทรัมป์ บ่ายวันนี้ ตามเวลาท้องถิ่น หรือราว 04.00 น. วันพุธ (5 ก.พ.68) ตามเวลาประเทศไทย

นายเนทันยาฮู วิจารณ์ UNRWA ว่า ปลุกปั่นชาวปาเลสไตน์ให้ต่อต้านอิสราเอลมาโดยตลอด และพบว่ามีเจ้าหน้าที่ราว 7 คนจาก UNRWA เข้าร่วมกับกลุ่มฮามาส ในการบุกโจมตีอิสราเอลเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2566

ในช่วงที่บริหารประเทศสมัยแรก ระหว่างปี 2560-2563 นายทรัมป์ เคยประกาศถอนชื่อสหรัฐฯ จากการเป็นสมาชิก UNHRC และระงับการสนุบสนุนทางการเงินแก่ UNRWA พร้อมวิจารณ์ความจำเป็นในการจัดตั้งองค์กรนี้ นายทรัมป์ เห็นว่า ชาวปาเลสไตน์จำเป็นต้องทำข้อตกลงพูดคุยสันติภาพกับอิสราเอล เพื่อแก้ไขปัญหาพิพาทเรื่องดินแดนในระยะยาว แทนที่จะจัดตั้งองค์กรนี้เพื่อขอรับการสนับสนุนทางการเงินแก่รัฐสมาชิก ทั้งเสนอแนะให้มีการปฏิรูปโครงสร้างองค์กร UNRWA ใหม่ แต่ต่อมาในยุคที่นายโจ ไบเดน ผู้นำคนที่ 46 ของสหรัฐฯ เข้ามาบริหารประเทศต่อจากรัฐบาลทรัมป์ ระหว่างปี 2565-2567 นายไบเดน ได้ยื่นใบสมัครขอกลับมาเป็นสมาชิก UNHRC พร้อมทั้งสนับสนุนการเงินแก่ UNRWA อีกครั้ง

UNHRC ก่อตั้งขึ้นในปี 2549 โดยคณะมนตรี มีหน้าที่รับผิดชอบในการเสริมสร้างการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนทั่วโลก โดยปกติองค์กรนี้จะเผยแพร่รายงานเรื่องสิทธิมนุษยชนทั่วโลกในเดือนสิงหาคม ทุกปี แม้รายงานฉบับนี้จะไม่มีข้อผูกมัดให้สมาชิกยูเอ็นต้องทำตามข้อเสนอแนะต่างๆ แต่อาจจะมีผลทางการเมือง เนื่องจากการวิพากษ์วิจารณ์จาก UNHRC อาจจะทำให้เกิดกระแสกดดันจากทั่วโลกให้รัฐบาลของประเทศนั้นๆ กลับมาทบทวนและปรับเปลี่ยนนโยบายต่างๆ ใหม่ เพื่อปกป้องสิทธิมนุษย์ชนมากยิ่งขึ้น