นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ โดยมีนายเดชอิศม์ ขาวทอง รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข นายนราพัฒน์ แก้วทอง ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นรองประธานกรรมการ นายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กรรมการและเลขานุการ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมประชุม
นายประเสริฐ กล่าวว่า เรื่องสิ่งแวดล้อมที่เป็นเรื่องฮอตในขณะนี้คงหนีไม่พ้นปัญหาฝุ่น PM 2.5 ที่เกิดวิกฤตจากสภาพภูมิอากาศและปัญหาต่างๆ ถือเป็นความท้าทายที่เกิดขึ้น ในฐานะเป็นประธานคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ คงจะต้องทำงานหนักขึ้น เช่นเดียวกับทุกหน่วยงาน เพราะ PM 2.5 เป็นปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน ทั้งนี้ ฝากทุกหน่วยงานให้ทำงานเชิงรุก และอาจจะต้องทุ่มเทเวลาให้มากขึ้น ปัญหาสิ่งแวดล้อมต้องเป็นมาตรการป้องกันมากกว่าการแก้ไข เพราะเมื่อเกิดขึ้นแล้วจะเสียหายมากกว่าเวลาฟื้นฟูให้กลับคืนสภาพนั้นทำได้ยาก
นายประเสริฐ กล่าวว่า การแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมจะต้องนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ และกำชับให้จุดที่มีการก่อสร้างตามเส้นทางต่างๆ ที่เป็นเหตุทำให้รถติดและเกิดฝุ่นละออง ขอกำชับให้ปฏิบัติตามข้อกำหนด นำรถน้ำมาฉีดพรมเพื่อลดฝุ่น ขอให้มีการแก้ไขปรับปรุงในเรื่องนี้
นายประเสริฐ กล่าวถึงการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม หรือ EIA ที่ถือเป็นอีกเรื่องสำคัญ ซึ่งบางครั้งเราพิจารณากันหลายเรื่อง เวลามีข้อเสนอแนะ ข้อสังเกตอะไร ในเขตป่าว่า จะทำศูนย์ดูแลขอให้ทำจริงๆ หรือใคร รับปากทำอะไรแล้วให้คณะกรรมการ EIA ตามดูด้วยว่าสิ่งที่รับปากไปแล้วได้ทำหรือไม่ ไม่ใช่พูดในที่ประชุมเพื่อให้ผ่านการรับรองโครงการนั้นโครงการนี้ ตนอยากให้ทำจริง อย่าพูดเพียงข้อสังเกตเพื่อให้ผ่านการพิจารณา
นายประเสริฐ กล่าวด้วยว่า จากการที่ตนเป็นประธานคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ที่มีการประชุมไปเมื่อวันที่ 6 มกราคม 2568 มีข้อสังเกตเรื่องการบำบัดน้ำเสีย ว่าได้รับการจัดสรรงบประมาณน้อย การนำน้ำเสียมาบำบัดให้เกิดประโยชน์สูงสุดยังไม่ดีพอ และได้มีการพาดพิงถึงคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ว่าที่ผ่านมาได้มีการอนุมัติงบประมาณในการก่อสร้างแล้วแต่ไม่สามารถใช้งานได้ จึงสั่งการให้มีการติดตามข้อเท็จจริงในเรื่องนี้
ขณะเดียวกัน ที่ประชุมคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ได้หารือถึงการยกระดับการปฏิบัติการตามมาตรการแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองในแต่ละปี ซึ่งจะมีการผลักดันร่างร่างแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติการแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละอองฉบับที่ 2 พ.ศ. 2568 ถึง 2570 ระยะ 5 ปี ต่อไป เพื่อให้ประชาชนมีสิทธิในอากาศสะอาด โดยมีเนื้อหาในแผนปฏิบัติการ อาทิ การกำหนดพื้นที่ควบคุมพิเศษ, ค่าธรรมเนียมการใช้ถนนในพื้นที่การจราจรหนาแน่น ให้โรงงานใช้เชื้อเพลิงเครื่องจักรและกระบวนการผลิตที่ระบายมลพิษต่ำ การจัดทำผังเมืองและการก่อสร้างต้องคำนึงถึงการระบายอากาศและการสะสมมลพิษ การจัดทำแผนจัดการป่าอนุรักษ์ป่าสงวนแห่งชาติและป่าชุมชนเพื่ออากาศสะอาด ปรับโครงสร้างการผลิตพืชลดความเสี่ยงการเผา กำหนดให้โรงงานผลิตน้ำตาลทรายรับเฉพาะอ้อยสด ร้อยละ 100 การพัฒนาระบบตรวจสอบย้อนกลับควบคุมการเผา การออกแนวทางลด/ระงับการนำเข้าสินค้าเกษตรที่เกี่ยวข้องกับการเผา
นอกจากนี้ ที่ประชุมคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ยังเห็นชอบเรื่องสำคัญ อาทิ การปรับปรุงมาตรฐานควบคุมการระบายน้ำทิ้งจากบ่อเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจืด และรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม โครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของรัฐด้านคมนาคม 6 โครงการ ได้แก่ โครงการทางหลวงหมายเลข 4 สาย อ.กะเปอร์-อ.สุขสำราญ โครงการทางหลวงหมายเลข 4006 ราชกรูด-หลังสวน จ.ระนอง โครงการทางหลวงหมายเลข 11 สายปางป่าขาม จ.ลำปาง
โครงการทางแยกต่างระดับจุดตัดทางหลวงหมายเลข 402 กับทางหลวงหมายเลข 4027 (แยกท่าเรือ) โครงการปรับปรุงขยายท่าอากาศยานระนอง และ โครงการทางพิเศษสายฉลองรัช-นครนายก-ช่วงจตุโชติ-ถนนวงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร รอบที่ 3 (MR 10) เพื่อเพิ่มศักยภาพด้านโครงข่ายคมนาคมของประเทศ อำนายความสะดวก ลดระยะเวลาการเดินทางให้กับประชาชน