xs
xsm
sm
md
lg

กสม.เตรียมจัดทำข้อเสนอแนะถึงรัฐบาลเร่งแก้ PM 2.5 ลั่น! ทุกคนมีสิทธิ์ได้รับอากาศบริสุทธิ์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



นายวสันต์ ภัยหลีกลี้ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) เปิดเผยว่า กสม.ได้ติดตามสถานการณ์ปัญหามลพิษด้านฝุ่นละอองขนาดเล็ก หรือ PM 2.5 ซึ่งเป็นปัญหาที่เกิดจากกิจกรรมและแหล่งกำเนิดมลพิษต่างๆ เช่น ภาคอุตสาหกรรม ยานพาหนะ การเผาในที่โล่ง ทั้งภายในประเทศและในประเทศข้างเคียง ประกอบกับสภาพภูมิอากาศบางช่วงมีความกดอากาศสูงและอากาศไม่ถ่ายเท ส่งผลให้ปริมาณฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 สะสมมากขึ้นจนส่งผลกระทบต่อสุขภาพประชาชน โดยข้อมูลของกระทรวงสาธารณสุขปี 2567 พบว่ามีประชาชนทั่วไป รวมถึงกลุ่มเสี่ยง ได้แก่ เด็กเล็ก ผู้สูงอายุ และผู้ที่มีโรคประจำตัว กว่า 9.5 ล้านคน ได้รับผลกระทบด้วยโรคมลพิษทางอากาศ ที่พบมากคือ โรคทางเดินหายใจ โรคผิวหนังอักเสบ โรคตาอักเสบ โรคหัวใจหลอดเลือดและสมองอุดตันขาดเลือด ในเดือนมกราคม 2568 มีรายงานการป่วยด้วยโรคมลพิษทางอากาศแล้วกว่า 1 แสนราย ซึ่งปรากฏตามรายงานสื่อมวลชนว่า ผู้ได้รับผลกระทบ โดยเฉพาะเด็กบางราย มีเลือดกำเดาไหล และไอเรื้อรัง

นายวสันต์ กล่าวว่า แม้ว่าที่ผ่านมารัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้กำหนดมาตรการแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 อาทิ การห้ามเผาในที่โล่ง การตรวจจับยานพาหนะที่ปล่อยไอเสียเกินมาตรฐาน การเรียนออนไลน์ การทำงานที่บ้าน การสนับสนุนให้เดินทางด้วยระบบขนส่งสาธารณะ การตรวจและแจ้งเตือนคุณภาพอากาศให้ประชาชนทราบ รวมถึงการเผยแพร่และสร้างความตระหนักรู้ให้แก่ประชาชนเกี่ยวกับวิธีการป้องกันและลดมลพิษจากฝุ่น PM 2.5 อย่างไรก็ดี ปัญหาฝุ่น PM 2.5 มีความซับซ้อนและมีแหล่งกำเนิดมลพิษที่ยังไม่สามารถควบคุมได้ มาตรการของรัฐบางส่วนไม่ได้รับการปฏิบัติอย่างต่อเนื่องหรือดำเนินการเฉพาะในช่วงที่สถานการณ์รุนแรงเท่านั้น ในขณะที่การบังคับใช้กฎหมายไม่มีความเข้มงวดจริงจัง จึงยังพบปัญหายานพาหนะปล่อยไอเสียหรือควันดำ การลักลอบเผาในที่โล่งหรือพื้นที่เกษตรกรรมยังคงเกิดขึ้นเป็นวงกว้างทั่วประเทศ ทำให้ในภาพรวมรัฐบาลยังไม่สามารถจัดการปัญหาได้อย่างยั่งยืนและมีประสิทธิภาพเท่าที่ควร

ด้วยเหตุที่สิทธิในสิ่งแวดล้อมที่สะอาด ดีต่อสุขภาพ และยั่งยืน (right to a clean, healthy and sustainable environment) ได้รับการรับรองว่าเป็นสิทธิมนุษยชนประการหนึ่ง เนื่องจากการปกป้องและคุ้มครองสิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศมีส่วนส่งเสริมความเป็นอยู่ที่ดีและทำให้บุคคลได้รับสิทธิต่างๆ ซึ่งรวมถึงสิทธิในชีวิต สิทธิที่จะมีสุขภาพที่ดี สิทธิที่จะมีมาตรฐานการครองชีพที่เพียงพอ ในปี 2566 กสม. จึงได้เสนอให้รัฐบาลแก้ไขปัญหามลพิษฝุ่นละอองในภาคเหนือเพื่อควบคุมปัญหาไฟป่าที่เป็นแหล่งกำเนิดฝุ่น โดยบูรณาการการทำงานและจัดสรรงบประมาณให้เพียงพอ ซึ่งมีการมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับไปดำเนินการ ขณะที่ปี 2567 กสม. ได้ร่วมผลักดันให้มีกฎหมายอากาศสะอาด เพื่อคุ้มครองสิทธิทางสิ่งแวดล้อม ซึ่งขณะนี้ร่างกฎหมายอยู่ระหว่างการพิจารณาในสภาผู้แทนราษฎร

จากสภาพปัญหาและข้อท้าทายดังกล่าว กสม. ในคราวประชุมด้านการคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิมนุษยชน เมื่อวันที่ 28 มกราคม 2568 จึงเห็นควรให้จัดทำข้อเสนอแนะถึงรัฐบาลให้เร่งแก้ไขปัญหาผลกระทบจากมลพิษด้านฝุ่น PM 2.5 ในภาพรวมของประเทศ โดยนำหลักการด้านสิทธิมนุษยชนโดยเฉพาะสิทธิในสิ่งแวดล้อมที่ดีและสิทธิในสุขภาพมาปรับใช้เพื่อคุ้มครองสิทธิของประชาชน รวมทั้งบังคับใช้มาตรการแก้ไขปัญหาแหล่งกำเนิดมลพิษและการป้องกันสุขภาพของประชาชนที่อยู่ในความรับผิดชอบของแต่ละหน่วยงานอย่างเคร่งครัด และกระจายอำนาจลงไปถึงหน่วยงานในระดับพื้นที่ให้มีประสิทธิภาพ ตลอดจนสร้างการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน เพื่อการแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืน