xs
xsm
sm
md
lg

รัฐบาลเตรียมเปิดเวทีรับฟังความเห็นปม 'MOU44' 28 ม.ค. ย้ำไม่ทำอะไรพลการ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ในการประชุมวุฒิสภาที่มี พล.อ.เกรียงไกร ศรีรักษ์ รองประธานวุฒิสภาคนที่หนึ่ง เป็นประธานในที่ประชุม พิจารณาวาระกระทู้ถามเป็นหนังสือของนายยุคล ชนะวัฒน์ปัญญา สว. ถามเรื่องการเจรจาผลประโยชน์ร่วมกันในพื้นที่อ้างสิทธิ์ทับซ้อนไทย-กัมพูชา 26,000 ตรางกิโลเมตร ซึ่งนายมาริษ เสงี่ยมพงษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เป็นผู้ตอบกระทู้ถาม ตามที่ได้รับมอบหมายจากนายกรัฐมนตรี

นายมาริษ ชี้แจงว่า ปัจจุบันรัฐบาลยังไม่ได้ดำเนินการใดๆ ในพื้นที่อ้างสิทธิ์ไทย-กัมพูชา และยังไม่ได้จัดตั้งคณะกรรมการร่วมเทคนิคไทยกัมพูชา หรือ JTC ของไทยชุดใหม่ ซึ่งจะเป็นกลไกหลักในการเจรจากับกัมพูชา โดยระหว่างที่ยังไม่มีการแต่งตั้งกลไกดังกล่าว รัฐบาลพร้อมรับฟังความเห็นจากทุกภาคส่วน และจะนำข้อคิดเห็นข้อเสนอแนะจากสมาชิกวุฒิสภาที่ได้อภิปราย ไปประมวลรวบรวมประกอบการกำหนดท่าทีของไทยในการเจรจา เพื่อผลประโยชน์สูงสุดของประเทศชาติและประชาชน

นายมาริษ กล่าวว่า ในเรื่องนี้รัฐบาลจะเจรจากับรัฐบาลกัมพูชาโดยยึดหลักกฏหมายระหว่างประเทศและกฎหมายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องและที่มีอยู่เพื่อใช้ในการเจรจาได้ ส่วนกรอบการเจรจาที่มีอยู่บนพื้นฐานของ MOU44 ซึ่งเป็นไปในทิศทางเดียวกันกับรัฐบาลทุกยุคที่มีก่อนหน้านี้ นับตั้งแต่ที่มีการลงนามในบันทึกความเข้าใจ เพราะรัฐบาลที่ผ่านมาเห็นว่าเป็นเครื่องมือในการเจรจาที่เหมาะสมและสมดุลในการรักษาผลประโยชน์แห่งชาติได้ครบถ้วนในมิติความมั่นคง ทั้งเรื่องการแบ่งเขตทางทะเล เศรษฐกิจ โดยคำนึงถึงอธิปไตยและผลประโยชน์สูงสุดของประเทศ

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวว่า แนวทางที่รัฐบาลยึดหลักปฏิบัติ 3 ข้อ คือ 1. ประชาชนต้องยอมรับได้ 2. รัฐสภาต้องสามารถให้ความเห็นชอบ และ 3. เป็นไปตามหลักกฏหมายระหว่างประเทศและกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง ยืนยันว่ารัฐบาลจะไม่ดำเนินการใดโดยที่รัฐสภาไม่เห็นชอบ และจะเจรจาบนพื้นฐานตามที่ได้แจ้งไว้

ส่วน MOU44 นั้นเป็นเพียงกลไกที่กำหนดกรอบการเจรจาระหว่างประเทศระหว่างไทยและกัมพูชาไม่ใช่การยอมรับการอ้างสิทธิ์ของกัมพูชาแต่อย่างใด และไม่ส่งผลต่ออธิปไตยของประเทศไทยเหนือเกาะกูด เนื่องจากไทยมีอำนาจในอธิปไตยเหนือเกาะกูดโดยสมบูรณ์ และไทยได้ใช้อำนาจดังกล่าวอย่างต่อเนื่องเสมอมา ส่วนสาระสำคัญของ MOU44 กำหนดให้การเจรจาแบ่งเขตและพัฒนาพื้นที่ควบคู่กันโดยแบ่งแยกไม่ได้ หักการเจรจาบรรลุข้อตกลงร่วมกัน รัฐบาลจะเสนอให้รัฐสภาพิจารณาให้ความเห็นชอบข้อตกลงดังกล่าวก่อนที่จะดำเนินการให้มีผลผูกพัน

นายมาริษ ย้ำว่า รัฐบาลจะไม่ทำโดยพลการ ทุกสิ่งทุกอย่างรัฐสภาแห่งนี้จะต้องให้ความเห็นชอบ ระหว่างนี้รัฐบาลจะจัดเวทีเสวนาเพื่อสร้างความรู้ ความเข้าใจ และรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วนอย่างต่อเนื่อง สำหรับการเสวนาครั้งต่อไปจะดำเนินการร่วมกันระหว่างรัฐบาลและคณะกรรมธิการที่เกี่ยวข้องของรัฐสภาในวันที่ 28 มกราคมนี้