รศ.ดร.ธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทยและประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทยรายงานผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นการค้าชายแดนและค้าผ่านแดนของไทย หรือ FBI ซึ่งสำรวจเป็นครั้งแรก จาก 327 กลุ่มตัวอย่างที่เป็นสมาคม และหอการค้าจังหวัดทั่วประเทศ ที่ประกอบธุรกิจส่งออกและนำเข้า
การจัดทำขึ้นสืบเนื่องจากการค้าทางชายแดน และผ่านแดน มีบทบาทสำคัญต่อภาพรวมการส่งออก คิดเป็นสัดส่วนถึง 9% ของการส่งออกไทย ภาคเอกชน โดยหอการค้าไทย ต้องการสะท้อนสถานการณ์ทางการค้าจากผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้รับทราบแนวโน้ม และมาตรการที่ต้องการให้ภาครัฐ สนับสนุน ไปสู่เป้าหมายเพิ่มมูลค่าการค้าให้ถึง 2 ล้านล้านบาท ในปี 2570 ตามเป้าหมาย
สำหรับค่าดัชนี FBI สูงสุดเท่ากับ 100 จะแบ่งเป็นระยะสั้น เป็นสถานการณ์ค้าชายแดนกับ 4 ประเทศ ได้แก่ มาเลเซีย สปป.ลาว เมียนมา และกัมพูชา รวมทั้งการค้าผ่านแดนกับ 3 ประเทศ ได้แก่เวียดนาม สิงคโปร์ และจีนตอนใต้ ในปัจจุบันของเดือนมกราคม 2568 ค่าดัชนีเท่ากับ 49.5 ยังไม่ถึงค่ากลางที่ 50 สะท้อนถึงความไม่มั่นใจ แต่ระยะปานกลาง หรือใน 6 เดือนข้างหน้า ค่าดัชนีสัญญาณของการปรับตัวดีขึ้น อยู่ที่ 52.8 แต่ยังอยู่ในระดับใกล้เคียงค่ากลาง สะท้อนว่า สถานการณ์การค้าชายแดนในบางพื้นที่ยังไม่เป็นปกติ ส่วนในระยะยาว ผู้ประกอบการมองว่าภาพรวมตลอดทั้งปี 2568 การค้าชายแดนและผ่านแดน จะดีขึ้นต่อเนื่อง ค่าดัชนีเท่ากับ 63.6 ถือว่าค่อนข้างสูง
สำหรับการประเมินแนวโน้มการส่งออกทางการค้าชายแดนและผ่านแดนของไทยของปีนี้ คาดว่าจะขยายตัว 5.4-6.9% หรือค่ากลางที่ 6.2% มูลค่าทะลุ 1 ล้านล้านบาท ส่วนการนำเข้า คาดว่าจะขยายตัว 8.8-10.3% มูลค่ากว่า 8 แสน 3 หมื่นล้านบาท มีปัจจัยบวกจากความต้องการสินค้าในประเทศเพื่อนบ้านที่เพิ่มขึ้น สินค้าไทยมีคุณภาพได้รับการยอมรับ ศักยภาพของด่านการค้าชายแดนที่มีการเติบโตต่อเนื่อง รวมทั้งการปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานไปยังจุดผ่านแดน การผลักดันความร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้าน และภาครัฐมีแผนงานเชิงรุกในการส่งเสริมการค้าชายแดน
ทั้งนี้ ยังมีปัจจัยลบที่ต้องติดตาม จากสถานการณ์ความไม่สงบในเมียนมา อุปสรรคทางด้านพิธีการศุลกากร แนวโน้มการเติบโตของเศรษฐกิจใน CLMV ที่ชะลอตัวลง และการเข้ามาแข่งขันของสินค้าจีน
นายจีรพันธ์ อัศวะธนกุล รองประธานกรรมการหอการค้าไทย และประธานคณะกรรมการการค้าชายแดน และค้าข้ามแดน สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย บอกว่า ได้ทำงานร่วมกับภาครัฐใกล้ชิด แต่การจัดทำดัชนีดังกล่าว เพื่อใช้ในการจัดลำดับความสำคัญในประเด็นที่จะต้องแก้ไขเร่งด่วน และเพิ่มบทบาทของเอกชน ในการลงพื้นที่จริงเพื่อแก้ไขปัญหาที่ยังติดขัด เพื่อเสริมศักยภาพทางการแข่งขันให้เป็นไปตามแผนการส่งเสริมการค้าและการลงทุนชายแดนและผ่านแดน ปี 2567-2570 ตั้งเป้าเพิ่มมูลค่าการค้าชายแดนและการค้าผ่านแดน เป็น 2 ล้านล้านบาท ภายในปี 2570