xs
xsm
sm
md
lg

อุตุฯ แจงข่าวหิมะตกในไทย ที่จริงเป็นปรากฏการณ์ น้ำค้างแข็งเท่านั้น

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

กรมอุตุนิยมวิทยา รายงานถึงกระแสสื่อโซเชียลที่เผยแพร่ข้อมูลว่ามีหิมะตกในเมืองไทยนั้น ขอชี้แจงและมาทำความเข้าใจว่า การเกิดและความต่างระหว่างน้ำค้างแข็ง กับหิมะ หลายคนยังเข้าใจผิด ในปัจจุบัน เป็นเพียงการเกิดปรากฏการณ์ น้ำค้างแข็ง เท่านั้น ไม่มีหิมะตก

หิมะ เป็นหยาดน้ำฟ้าชนิดหนึ่ง ตกจากเมฆฝน/ฝนฟ้าคะนอง (ตกจากฟ้าลงมายังพื้นดิน) ที่จะเป็นหิมะได้ ผิวพื้นจะต้องมีอากาศเย็น/หนาวอยู่ก่อน เมื่อหยดฝนที่ตกลงมาเสียดสีกับบรรยากาศรูปร่างจะเปลี่ยนเป็นรูปเหลี่ยม หรือรูปแฉก เมื่อตกลงมายังพื้นผิวที่มีอากาศหนาวเย็น ทำให้รูปร่างไม่เปลี่ยนแปลง จึงเรียกว่า"หิมะ" แต่ถ้าเกิดในเขตร้อน (Tropic) พื้นผิวอากาศร้อน รูปร่างของหยดน้ำเดิมที่อยู่ในบรรยากาศอาจมีรูปเหลี่ยมหรือเป็นแฉก แต่พอตกลงมาใกล้ผิวพื้นที่ร้อนจึงเปลี่ยนรูปเป็นเม็ดฝน (ฝน) นั่นเอง

สถานการณ์ในไทย มีน้ำค้างแข็ง (Frost) ภาคเหนือ เรียกว่า เหมยขาบ ภาคอีสาน เรียกว่า แม่คะนิ้ง เกิดขึ้น เนื่องจาก อากาศชื้น มีไอน้ำมาก ถ้าอุณหภูมิต่ำกว่าจุดเยือกแข็งอย่างรวดเร็ว ไอน้ำ เปลี่ยนเป็น ผลึกน้ำแข็ง โดยตรง เกาะตามขอบใบไม้ใบหญ้า