นายเอกวรัญญู อัมระปาล โฆษกกรุงเทพมหานคร เปิดเผยว่า กทม.ร่วมกับโครงการห้องเรียนสู้ฝุ่นของ สสส. กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข และห้างหุ้นส่วนจำกัด เติมเต็มวิสาหกิจเพื่อสังคม ได้ดำเนินโครงการสร้างการเรียนรู้สำหรับเยาวชนเพื่อสร้างความตระหนักถึงปัญหาด้านสุขภาพ ต่อภาวะวิกฤตฝุ่นละอองในพื้นที่กรุงเทพมหานคร มีโรงเรียนในสังกัดเข้าร่วม 32 โรงเรียน และจะขยายความร่วมมือให้ครบ 437 โรงเรียน โดยได้รับการสนับสนุนอุปกรณ์ การจัดทำเครื่องวัดคุณภาพอากาศ จำนวน 405 ชุด จากห้างหุ้นส่วนจำกัด เติมเต็มวิสาหกิจเพื่อสังคม มอบให้โรงเรียนในสังกัดกรุงเทพมหานคร และสำนักการศึกษาจัดซื้อตู้กันน้ำพลาสติก จำนวน 405 ชุด เพื่อประกอบเป็นเครื่องวัดคุณภาพอากาศ ปัจจุบันสำนักการศึกษาอยู่ระหว่างดำเนินการส่งมอบเครื่องวัดคุณภาพอากาศให้โรงเรียนในสังกัดกรุงเทพมหานคร โดยส่งมอบแล้ว 382 เครื่อง อยู่ระหว่างดำเนินการส่งมอบจำนวน 17 เครื่อง และอยู่ระหว่างดำเนินการส่งประกอบ จำนวน 6 เครื่อง
ตามแนวทางคู่มือการลดและป้องกันผลกระทบต่อสุขภาพจากฝุ่นละอองไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM2.5) พ.ศ.2563 กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข สำนักการศึกษาจะดำเนินการปรับปรุงห้องเรียนปลอดฝุ่น (Clean Air Shelter) สำหรับกลุ่มเด็กอนุบาล อายุประมาณ 4-6 ปี (อนุบาล 1-2) ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 จากจำนวนโรงเรียน 429 โรงเรียน โดยมีห้องเรียนจำนวนทั้งสิ้น 1,996 ห้อง แบ่งออกเป็น 1.ห้องเรียนเดิมมีแอร์ จำนวน 696 ห้อง 2.ห้อง CSR หรือห้อง+แอร์ จำนวน 48 ห้อง 3.ห้องที่ปรับปรุงโดยสำนักงานเขต จำนวน 227 ห้อง และ 4.ห้องที่ปรับปรุงโดยสำนักการศึกษา จำนวน 995 ห้อง
ปัจจุบันอยู่ระหว่างดำเนินการจัดทำ TOR จำนวน 6 กลุ่มเขต กรุงเทพกลาง จำนวน 49 ห้อง กรุงเทพเหนือ จำนวน 126 ห้อง กรุงเทพใต้ จำนวน 29 ห้อง กรุงเทพตะวันออก จำนวน 437 ห้อง กรุงธนเหนือ จำนวน 140 ห้อง กรุงธนใต้ จำนวน 214 ห้อง รวมทั้งสิ้นจำนวน 995 ห้อง
ซึ่งแนวทางการดำเนินการปรับปรุงห้องระบบเปิดให้เป็นระบบปิด มีขนาดห้องเรียน 2 ขนาด กล่าวคือ ขนาดห้องเรียนที่มีพื้นที่มากกว่า 35 ตร.ม. และขนาดห้องเรียนที่มีพื้นที่น้อยกว่าหรือเท่ากับ 35 ตร.ม. โดยได้ทำการติดตั้งเครื่องปรับอากาศแบบแขวน ระบบ INVERTER พร้อมพัดลมระบายอากาศ เดินระบบ MAIN BREAKER ภายในห้อง ติดตั้งเครื่องวัดค่าคาร์บอนไดออกไซต์ CO2 ภาพอากาศ
ทั้งนี้ ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 โรงเรียนในสังกัด กรุงเทพมหานคร ได้แก่ โรงเรียนวัดราชผาติการาม สำนักงานเขตดุสิต มีการดำเนินการห้องเรียนปลออดฝุ่น แบบเติมอากาศสะอาดความดันบวก โดยได้รับการสนับสนุน จากมหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช
นอกจากนี้ ยังได้มีการติดตั้งโซลาร์เซลล์ในโรงเรียน โดยกรุงเทพมหานคร ได้ทำบันทึกความร่วมมือกับการไฟฟ้านครหลวง โครงการร่วมพัฒนาเมืองอัจฉริยะ และร่วมพัฒนาโครงการด้านพลังงานทดแทน และอนุรักษ์พลังงาน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อร่วมกันพัฒนาเมืองอัจฉริยะ และร่วมพัฒนาโครงการด้านพลังงานทดแทน และอนุรักษ์พลังงาน พร้อมรักษาสมดุลของสิ่งแวดล้อม เพื่อมุ่งสู่สังคมคาร์บอนต่ำ (LOW CARB ON SOCIETY) มุ่งเน้นความยั่งยืน ควบคู่กับการสร้างจิตสำนึกและความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม ให้แก่บุคลากรของกรุงเทพมหานคร ตลอดจนรองรับการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีด้านพลังงานไฟฟ้า (DISRUPTIVE TECHNOLOGY)
ปัจจุบันอยู่ระหว่างดำเนินการตรวจสอบ และพิจารณาร่างสัญญาโดยสำนักการโยธา และสำนักการระบายน้ำ เพื่อเริ่มดำเนินการติดตั้ง หากสัญญาดังกล่าวเรียบร้อยทางสำนักการศึกษาจะดำเนินการในโรงเรียนสังกัดกรุงเทพมหานคร ตามกลุ่มเป้าหมาย ได้แก่ โรงเรียนขนาดกลาง และโรงเรียนขนาดใหญ่ รวมทั้งสิ้น 50 โรงเรียน และในปี พ.ศ. 2568 จะดำเนินการคัดเลือกจากโรงเรียนที่มีค่าไฟฟ้าเกิน 50,000 บาท/เดือนขึ้นไป และโรงเรียนมีสภาพพร้อมในการติดตั้งเพื่อดำเนินการโครงการดังกล่าว