xs
xsm
sm
md
lg

พาณิชย์ผุดโครงการ"สมาร์ทโชห่วยพลัส" หวังยกระดับค้าปลีกชุมชน​สู่​"สมาร์ท​โชห่วย"

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



นายนภินทร ศรีสรรพางค์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เผยว่า ธุรกิจค้าส่งค้าปลีกท้องถิ่นที่ครอบคลุมตั้งแต่ร้านค้าปลีกรายย่อย (โชห่วย) ไปจนถึงห้างท้องถิ่นในระดับอำเภอ/จังหวัด ถือเป็นหัวใจสำคัญของเศรษฐกิจฐานรากที่มีบทบาทในการกระจายรายได้และสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชน แต่การแข่งขันจากห้างค้าส่งค้าปลีกสมัยใหม่และพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป ทำให้โชห่วยต้องปรับตัวเพื่อความอยู่รอดและเติบโต การส่งเสริมให้ผู้ประกอบการนำเทคโนโลยีมาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการจึงเป็นกุญแจสำคัญในการพัฒนาธุรกิจค้าปลีกให้ตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้อย่างตรงจุด รวมถึงช่วยเพิ่มรายได้ ขยายโอกาส และสร้างความเข้มแข็งแก่ผู้ประกอบการ

กระทรวงพาณิชย์ โดยกรมพัฒนาธุรกิจการค้า จึงได้ส่งเสริมการพัฒนาธุรกิจค้าปลีก (โชห่วย) มาอย่างต่อเนื่อง ผ่านโครงการ "สมาร์ทโชห่วย พลัส" เพื่อพัฒนาผู้ประกอบการโชห่วยไทยทั่วประเทศให้เป็น "สมาร์ทโชห่วย" ที่มีภาพลักษณ์ร้านค้าที่ดี มีการใช้เทคโนโลยีในการบริหารจัดการร้านค้า และมีช่องทางออนไลน์เพื่อเพิ่มโอกาสทางการตลาด นอกจากนี้โครงการสมาร์ทโชห่วยพลัสยังได้ร่วมมือห้างท้องถิ่นที่ผ่านการพัฒนาเป็น "ห้างท้องถิ่นต้นแบบ" ช่วยพัฒนาร้านค้าปลีกรายย่อยภายใต้แนวคิด "พี่เลี้ยงโชห่วย" โดยในปี 2567 มีร้านค้าปลีกรายย่อยหรือโชห่วยได้รับการพัฒนาเสริมสร้างองค์ความรู้ใน 4 ภูมิภาคผ่านการจัดสัมมนาออนไซต์และสัมมนาออนไลน์ จำนวนกว่า 3,200 ราย และมีร้านค้าที่พัฒนาต่อยอดเป็น "สมาร์ทโชห่วย" ด้วยการปรับภาพลักษณ์ร้านค้าและส่งเสริมใช้ระบบ POS รวม 250 ร้านค้า และมีห้างท้องถิ่นต้นแบบจำนวน 21 ร้านค้าจากทั่วประเทศร่วมเป็นพี่เลี้ยง ซึ่งคาดว่าจะก่อให้เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจรวมกว่า 84 ล้านบาท

สำหรับในปี 2568 มีแผนจะขยายการดำเนินโครงการสมาร์ทโชห่วยพลัส โดยเพิ่มกลุ่มเป้าหมายการพัฒนาไปยังธุรกิจค้าปลีกอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องในชุมชนด้วย อาทิ ร้านขายยา สินค้าเบ็ดเตล็ด เครื่องเขียน ร้านขายอุปกรณ์เบเกอรี อุปกรณ์ก่อสร้าง และอุปกรณ์การเกษตร เพื่อสร้างระบบนิเวศที่เอื้อต่อการเติบโตของธุรกิจค้าปลีกในชุมชนให้เข้มแข็งและสามารถแข่งขันกับร้านสะดวกซื้อและห้างค้าปลีกได้มากขึ้น จึงได้จัดงาน "ผสานพลังความร่วมมือ สู่การพัฒนาค้าปลีกชุมชนด้วยเทคโนโลยี" เพื่อให้หน่วยงานพันธมิตร เช่น สมาคมอุตสาหกรรมซอฟแวร์ไทย และภาคเอกชนกลุ่มเทคโนโลยี AI Chatbot และ POS เป็นต้น มาร่วมเสวนาแลกเปลี่ยนแนวทางการส่งเสริมและพัฒนาธุรกิจค้าปลีกชุมชนให้สามารถแข่งขันกับร้านค้าสมัยใหม่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ พร้อมนำเทคโนโลยีสำหรับธุรกิจค้าปลีกยุคใหม่ อาทิ เทคโนโลยีนำสมัยจากสมาคมอุสาหกรรมซอฟต์แวร์ไทย, Smart AI Assistance, POS และ Chatbot ที่ตอบโจทย์ธุรกิจค้าปลีก ครบ จบ ในที่เดียว มาให้ทดลองใช้งานฟรี โดยมีหน่วยงานพันธมิตร ร้านค้าโชห่วย ร้านค้าปลีกอื่นๆ ในพื้นที่กรุงเทพและปริมณฑล กว่า 100 ราย เข้าร่วม

ทั้งนี้ การนำเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้ในธุรกิจค้าปลีกชุมชนจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการลดต้นทุนและเข้าถึงลูกค้าได้มากขึ้น นอกจากนี้ การสนับสนุนจากภาครัฐและภาคเอกชนก็มีส่วนสำคัญอย่างยิ่ง ในการยกระดับธุรกิจค้าปลีกชุมชนให้สามารถเติบโตและอยู่รอดได้อย่างยั่งยืน