นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีตรัฐมนตรีกระทรวงการคลัง และประธานร่วมศูนย์นโยบายและวิชาการพรรคลังประชารัฐ กล่าวถึงมาตรการแก้ไขปัญหาหนี้สินของรัฐบาลในโครงการ "คุณสู้-เราช่วย" มีข้อบกพร่องสำคัญ ทั้งในแง่ของการขาดการครอบคลุมกลุ่มเป้าหมายและความสามารถในการแก้ปัญหาอย่างเบ็ดเสร็จ พร้อมเสนอแนวทางแก้ปัญหาหนี้อย่างยั่งยืน
นายธีระชัย กล่าวว่า เป็นเรื่องดีที่รัฐบาลเริ่มขับเคลื่อนการแก้หนี้ให้ประชาชน เพราะเป็นปัญหาที่ฉุดรั้งการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ อย่างไรก็ตาม มาตรการตีกรอบแคบช่วยลูกหนี้ของธนาคารและบริษัทลูกเพียง 48 แห่งเท่านั้น (23.30%) หรือช่วยลูกหนี้แค่ 2.1 ล้านบัญชี (27% ของมูลค่าหนี้ที่มีปัญหา) ยิ่งไปกว่านั้น เงินกองทุนฟื้นฟูที่รัฐช่วยลูกหนี้ครึ่งหนึ่ง หากลูกหนี้ผิดเงื่อนไข แต่รัฐไม่เรียกคืน เท่ากับเอาภาษีประชาชนไปหนุนกำไรสถาบันการเงิน
ที่สำคัญ การกำหนดเงื่อนไขชำระเงินต้นที่ชันเกินไป 50%, 70%, และ 90% ใน 3 ปี ขณะที่เศรษฐกิจยังไม่ฟื้น รายได้ประชาชนยังไม่โต และค่าครองชีพยังสูงขึ้น เงื่อนไขแบบนี้นอกจากจะไม่สามารถช่วยให้ลูกหนี้จ่ายหนี้ได้จริง แต่กลับจะดันให้ลูกหนี้จมน้ำลึกไปกว่าเดิม
นายธีระชัย กล่าวด้วยว่า มาตรการนี้กำหนดเพดานช่วยเหลือเพียง 5,000 บาทต่อบัญชี ลูกหนี้กลุ่มนี้ธนาคารควรจัดการเองอยู่แล้วโดยไม่ต้องพึ่งเงินกองทุนฟื้นฟูซึ่งมาจากภาษีประชาชน การดึงเงินของรัฐมาใช้ในกรณีที่สถาบันการเงินสามารถแก้ไขได้เอง ไม่เพียงแต่สิ้นเปลืองโดยไม่คุ้มค่า และอาจถูกมองว่าเป็นการสนับสนุนสถาบันการเงินเกินความจำเป็น
ขณะเดียวกัน นายธีระชัย ได้กล่าวเตือนมาตรการแก้หนี้ของรัฐบาลใน 4 จุดที่ไม่ครอบคลุมการแก้ปัญหา ประกอบไปด้วย (ก) ลืมลูกหนี้จมดิน มาตรการไม่ช่วยเหลือลูกหนี้ที่ถูกฟ้องและรอถูกยึดทรัพย์กว่า 3.26 ล้านราย ทั้งที่ควรชะลอการบังคับหลักประกัน (ข) เมินลูกหนี้ชั้นดี ลูกหนี้ที่จ่ายตรงกลับถูกมองข้าม ซึ่งมีมูลค่าหนี้มากกว่า 2 ใน 3 ของมูลหนี้ทั้งระบบ (ค) ไร้มาตรการเพิ่มรายได้ ไม่มีแนวทางช่วยลดค่าครองชีพหรือปรับราคาพลังงานที่เป็นปัญหาเรื้อรัง (ง) ปฏิรูปกระบวนการประนอมหนี้ล้าหลัง ถึงเวลายกเลิกดอกเบี้ยผิดนัดสูงลิ่ว และหยุดฟ้องค้ำประกันรายย่อย เพื่อช่วยประชาชนและ SMEs ให้ลืมตาอ้าปากได้
นายธีระชัย กล่าวเพิ่มเติมว่า พรรคพลังประชารัฐขอเรียกร้องให้รัฐบาลเร่งแก้ปัญหาหนี้ประชาชนอย่างจริงจัง โดยปรับโครงสร้างหนี้ทุกประเภท ทั้งหนี้ธุรกิจ หนี้ครัวเรือน หนี้เกษตรกร และหนี้นอกระบบ ให้เป็นวาระแห่งชาติ ดึงทุกหน่วยงานร่วมมือแก้ปัญหาแบบบูรณาการ ปรับโครงสร้างหนี้อย่างมีประสิทธิภาพ กำหนดอัตราดอกเบี้ยและการชำระหนี้ที่ยืดหยุ่น สอดคล้องกับรายได้ของลูกหนี้ เติมทุนใหม่ พัฒนาทักษะอาชีพ พร้อมปฏิรูประบบสถาบันการเงิน เพิ่มการแข่งขันอย่างจริงจัง จัดเก็บภาษีลาภลอยส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยเกินกำหนด เพื่อสร้างโอกาสการเข้าถึงแหล่งเงินทุนสำหรับประชาชนฐานรากและ SMEs