น.ส.ศศิกานต์ วัฒนะจันทร์ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยถึงผลการดำเนินการป้องกันและป้องปรามธุรกิจอำพรางของคนต่างด้าว (นอมินี) เชิงรุกของรัฐบาลเกิดผลเป็นรูปธรรม โดยกรมพัฒนาธุรกิจการค้าได้ร่วมมือกับกองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง ขับเคลื่อนยุทธการ "ทลายรังมังกรเทา Nominee Sweep ep.2" ลงพื้นที่ตรวจสอบ-ตรวจค้นนิติบุคคล ที่มีแนวโน้ม หรือเข้าข่าย หรือ เห็นแวว ว่าจะกระทำความผิด ในพื้นที่กรุงเทพฯ-สมุทรปราการ-สมุทรสาคร
น.ส.ศศิกานต์ กล่าวว่า จากผลการดำเนินการ พบนิติบุคคลที่เข้าข่ายกระทำความผิด รวมทั้งสิ้น 442 ราย ประกอบธุรกิจ ร้านค้า ร้านอาหาร ซุปเปอร์มาร์เก็ต นำเที่ยว โกดัง คลังสินค้า รับแลกเงินต่างประเทศ เงินดิจิทัล และถือครองอสังหาริมทรัพย์โดยผิดกฎหมาย นอกจากนี้ ยังพบว่าหลายบริษัทไม่มีกิจการอยู่จริง
สำหรับรูปแบบที่คนต่างชาตินำมาใช้ เพื่อให้สามารถทำธุรกิจในไทยได้ มี 2 รูปแบบ คือ 1. การจดทะเบียนบริษัทในลักษณะ "นอมินี" ซึ่งคนต่างชาติว่าจ้าง สำนักงานบัญชีจดทะเบียน โดยใช้คนไทยถือหุ้นแทน หรือนอมินี เข้ามาประกอบธุรกิจที่สงวนไว้ตาม พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ.2542 โดยมีนิติบุคคลที่กระทำความผิดจำนวน 244 ราย (บุคคลต่างด้าวสัญชาติจีน 248 ราย ไทย 57 ราย สัญชาติอื่น 14 ราย) ทุนจดทะเบียน รวม 891 ล้านบาท และสำนักงานบัญชี 3 ราย ที่มีส่วนเกี่ยวข้องและรู้เห็นกับการกระทำความผิด
2. การจดทะเบียนบริษัทในลักษณะ "บัญชีม้านิติบุคคล" เพื่อนำไปเปิดบัญชีธนาคารรับโอนผลประโยชน์จากอาชญากรรมทางเทคโนโลยี หรือฟอกเงินที่ได้จากการกระทำความผิด มีนิติบุคคลที่กระทำผิดจำนวน 198 ราย (บุคคลต่างด้าวสัญชาติจีน มาเลเซีย (สัญชาติจีน) 8 ราย) และสำนักงานบัญชี 14 ราย ที่มีส่วนเกี่ยวข้องและรู้เห็นกับการกระทำความผิด
ปัจจุบันนี้ ผู้กระทำผิดได้ใช้วิธีจ้างสำนักงานบัญชี เพื่อจดทะเบียนบริษัทนิติบุคคล โดยใช้ชื่อคนไทยเป็นกรรมการ ผู้ถือหุ้น และนำบัญชีม้านิติบุคคลดังกล่าวไปเปิดบัญชี รับโอนเงินหรือฟอกเงิน เพื่อหลบเลี่ยงการกระทำความผิด สร้างความเสียหายให้กับเศรษฐกิจของไทยและสร้างความเดือดร้อนต่อคนไทยอย่างมาก จึงเป็นที่มาของการบูรณาการทุกภาคส่วนเข้ามาจัดการปัญหานี้
น.ส.ศศิกานต์ กล่าวย้ำเตือนคนไทยที่ให้ความช่วยเหลือสนับสนุนคนต่างด้าวให้กระทำความผิด และกรณีคนต่างด้าวที่ประกอบธุรกิจโดยไม่ได้รับอนุญาต มีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับตั้งแต่ 100,000-1,000,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และหากฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามคำสั่งศาล ต้องระวางโทษปรับรายวัน วันละ 10,000-50,000 บาท จนกว่าจะเลิกฝ่าฝืน สำหรับ "สำนักงานบัญชี" หรือ "ผู้ทำบัญชี" ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการกระทำความผิด โดยใช้เอกสารประกอบการทำบัญชีที่ไม่ถูกต้อง จะเข้าข่ายความผิดตาม พ.ร.บ.การบัญชี พ.ศ.2543 มาตรา 20 มีอัตราโทษปรับไม่เกิน 10,000 บาท รวมถึง พ.ร.บ.วิชาชีพบัญชี พ.ศ.2547 หากไม่ปฏิบัติตามจรรยาบรรณ ต้องได้รับโทษตามที่กฎหมายกำหนดด้วย