นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ให้สัมภาษณ์ผ่านรายการ “"เจาะลึกทั่วไทย" ทางช่อง 9 อสมท ว่า หลังมีกระแสข่าวการปรับโครงสร้างภาษีทั้งระบบ ประกอบด้วย ปรับภาษีเงินได้นิติบุคคล จากปัจจุบันร้อยละ 20 ลดมาอยู่ที่ ร้อยละ 15 ปรับอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา จัดเก็บแบบขั้นบันไดสูงสุดร้อยละ 35 ลดลงมาอยู่ที่ร้อยละ 15 เพื่อดึงดูดการลงทุน กระตุ้นเศรษฐกิจ และ ปรับขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) จากร้อยละ 7 เป็นร้อยละ 10-15 นั้น
นายพิชัย ยืนยันว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างการศึกษาสภาพเศรษฐกิจของไทย และต้องรับฟังความเห็นจากหลายฝ่ายรอบด้าน รัฐบาลยืนยันไม่ขยับเพิ่มภาษี VAT จากปัจจุบันร้อยละ 7 เพิ่มเป็นร้อยละ 15 อย่างแน่นอน เพราะจะทำให้กระทบไปหลายส่วน
ทั้งนี้ เพื่อเดินหน้าลดความเหลื่อมล้ำของคนจนและคนรวย จึงเดินหน้าจัดเก็บภาษีจากทรัพย์สินอย่างมีประสิทธิภาพ โดยต้องทยอยทำความเข้าใจกับประชาชนทุกระดับในวงกว้าง ปัจจุบันความมั่งคั่งของคนไทยมีอยู่ 3 ประเภท ประกอบด้วย (1) บุคคลธรรมดา ผู้มีรายได้ประจำต่อปีจำนวนสูง เป็นรายได้จากธุรกิจหรือประกอบอาชีพต่างๆ การลงทุน (2) ผู้มีทรัพย์สินจากการประกอบอาชีพ การลงทุน นำไปสะสมทั้งการซื้อที่ดิน บ้านอยู่อาศัย อสังหาฯ ประเภทต่างๆ เช่น หากมีบ้านราคามากกว่า 100-200 ล้านบาท ควรจัดเก็บภาษีอย่างไรบ้าง และ (3) ทรัพย์สินมรดก จัดเก็บระหว่างมีชีวิตอยู่อย่างไร เมื่อตกทอดไปยังทายาทจัดเก็บอย่าง ทุกอย่างยังไม่ได้ข้อสรุป แต่ต้องเดินหน้าศึกษาเพื่อให้เกิดความชัดเจน
นายพิชัย กล่าวเพิ่มเติมว่า เมื่อรัฐบาลมีรายได้ภาษีเข้ามาเพิ่มจะทำกองทุนโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อนำไปลงทุนพัฒนาโครงการขนาดใหญ่ ทั้งการสร้างถนน พัฒนาเขตอีอีซี ระบบโลจิสติกส์ของประเทศ เพื่อยกระดับการแข่งขันของประเทศ รัฐบาลยังเดินหน้าจัดหาที่อยู่อาศัย ผ่านโครงการ "บ้านเพื่อคนไทย" นำที่ดินของรัฐ เช่น การรถไฟฯ ตั้งอยู่ในเมืองชั้นในนำกลับมาพัฒนาเป็นที่อยู่อาศัยคุณภาพให้กับคนรุ่นใหม่ เพิ่งทำงานได้ 1-2 ปี คิดตั้งตัวหาบ้านอยู่ หรือประชาชนรายย่อยทั่วไป ให้มีบ้านอยู่อาศัยเช่าซื้อ ผ่อนชำระ 4,000 บาท/เดือน อยู่อาศัยในระยะยาว 99 ปี เพื่อลดต้นทุนเดินทางจากชานเมืองค่าขนส่งแพง เป็นนโยบายต้องผลักดันในปี 68 ให้คืบหน้าและชัดเจน