xs
xsm
sm
md
lg

ความกังวลเศรษฐกิจ-น้ำท่วม ฉุดดัชนีเชื่อมั่นหอการค้าไทย พ.ย.ร่วงต่อเดือนที่ 7

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



นายวชิร คูณทวีเทพ ผู้อำนวยการสถาบันยุทธศาสตร์การค้า มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทย (TCC INDEX) เดือนพฤศจิกายน 2567 ซึ่งเป็นการสำรวจจากความคิดเห็นของภาคธุรกิจ และหอการค้าทั่วประเทศ จำนวน 369 ตัวอย่าง ระหว่างวันที่ 25-29 พฤศจิกายน 2567 โดยดัชนีฯ อยู่ที่ระดับ 48.8 ลดลงเล็กน้อยจากระดับ 48.9 ในเดือนตุลาคม 2567 โดยเป็นการลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 7 (ตั้งแต่เดือนพ.ค. 67) และอยู่ในระดับต่ำกว่า 50 (ระดับปกติ) ต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 แสดงให้เห็นว่าผู้ประกอบการยังคงกังวลภาวะเศรษฐกิจไทยค่อนข้างมาก

สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทยในแต่ละภูมิภาค เป็นดังนี้

- กรุงเทพฯ และปริมณฑล อยู่ที่ 48.9 เพิ่มขึ้นจากเดือนตุลาคม ซึ่งอยู่ที่ 48.8
- ภาคกลาง อยู่ที่ 49.0 เพิ่มขึ้นจากเดือนตุลาคม ซึ่งอยู่ที่ 48.9
- ภาคตะวันออก อยู่ที่ 51.5 ลดลงจากเดือนตุลาคม ซึ่งอยู่ที่ 51.8
- ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ อยู่ที่ 47.6 ลดลงจากเดือนตุลาคม ซึ่งอยู่ที่ 47.7
- ภาคเหนือ อยู่ที่ 48.3 ลดลงจากเดือนตุลาคม ซึ่งอยู่ที่ 48.7
- ภาคใต้ อยู่ที่ 47.6 ลดลงจากเดือนตุลาคม ซึ่งอยู่ที่ 48.0

ทั้งนี้ ภาคตะวันออกเป็นภาคเดียวที่ดัชนีเกิน 50 จากปัจจัยจำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศที่เข้ามาต่อเนื่อง และภาคอุตสาหกรรมปรับตัวดีขึ้น จากสถานการณ์การส่งออกที่ยังคงขยายตัวได้

ส่วนปัจจัยลบ ได้แก่

1. ผู้ประกอบการบางรายยังคงมีความกังวลกับเศรษฐกิจในประเทศที่ยังไม่แน่นอน และราคาของวัตถุดิบบางอย่างที่ยังคงอยู่ในระดับสูง

2. ความกังวลต่อสถานการณ์ความขัดแย้งทางด้านภูมิรัฐศาสตร์ของโลกที่ยังคงยืดเยื้อ ทั้งสถานการณ์สงครามระหว่างรัสเซียและยูเครน การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับขบวนการฮามาส ตลอดจนสถานการณ์ความขัดแย้งในตะวันออกกลางที่รุนแรงขึ้น

3. การฟื้นตัวของระบบเศรษฐกิจโลกที่ช้าหรือชะลอตัวลง และอาจส่งผลกระทบในเชิงลบต่อการส่งออก และเศรษฐกิจไทยในอนาคต

4. ความเสียหายของภาคธุรกิจและประชาชน ที่ได้รับผลกระทบจากภัยธรรมชาติน้ำท่วมหนักในบางพื้นที่ ทำให้ต้องหยุดดำเนินกิจการและขาดรายได้ อีกทั้งยังต้องซ่อมแซมอาคารบ้านเรือนที่เกิดความเสียหาย

5. ความกังวลจากการดำเนินนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐที่ยังมีความไม่แน่นอน

6. ความกังวลต่อสถานการณ์น้ำท่วมที่เกิดขึ้นในหลายจังหวัด โดยเฉพาะในภาคใต้ ที่สร้างความเสียหายต่อทรัพย์สินของประชาชน รวมถึงผลผลิตทางการเกษตร

7. ราคาน้ำมันขายปลีกแก๊สโซฮอล ออกเทน 91 (E10) และแก๊สโซฮอล ออกเทน 95 ในประเทศปรับตัวเพิ่มขึ้นประมาณ 1.10 บาทต่อลิตร จากเดือนที่ผ่านมา ขณะที่ราคาน้ำมันดีเซลขายปลีกในประเทศ ยังคงทรงตัวจากเดือนที่ผ่านมา

8. SET Index เดือนพฤศจิกายน 2567 ปรับตัวลดลง 38.5 จุด

9. ค่าเงินบาทปรับตัวอ่อนค่าลงเล็กน้อยจากระดับ 33.372 บาท/ดอลลาร์ ณ สิ้นเดือนตุลาคม 2567 เป็น 34.448 บาท/ดอลลาร์ ณ สิ้นเดือนพฤศจิกายน 2567 ทำให้มีความกังวลว่าจะส่งกระทบในเชิงลบต่อความสามารถในการแข่งขันของสินค้าไทยในตลาดโลก

ปัจจัยบวก ได้แก่

1. สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เผยตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ไตรมาส 3/67 ว่า เศรษฐกิจขยายตัว 3% เร่งขึ้นจากการขยายตัว 2.2% ในไตรมาส 2/67 ส่วนช่วง 9 เดือนของปี 67 ขยายตัว 2.3% โดยทั้งปี 67 คาดจะขยายตัว 2.6%

2. รัฐบาลดำเนินโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจ ปี 2567 ผ่านผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐและคนพิการ ให้แก่กลุ่มเป้าหมายรวม 14.55 ล้านคน โดยเริ่มทำการโอนเงิน 10,000 บาท ตั้งแต่วันที่ 25 กันยายน 2567 เป็นต้นไป

3. จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการยกเว้นการยื่นวีซ่านักท่องเที่ยว รวมการขยายระยะเวลาการพำนักของนักท่องเที่ยว ส่งผลให้เกิดเม็ดเงินหมุนเวียนในประเทศมากขึ้น และกิจกรรมทางเศรษฐกิจในภูมิภาคต่างๆ ปรับตัวดีขึ้น

4. การส่งออกของไทยเดือนตุลาคม 2567 ขยายตัว 14.6% มูลค่าอยู่ที่ 27,222.05 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และการนำเข้าเพิ่มขึ้น 7.1% มีมูลค่าอยู่ที่ 28,016.40 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ส่งผลให้ขาดดุลการค้า 794.35 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

5. ราคาพืชผลทางการเกษตรหลายรายการปรับตัวดีขึ้นหรือทรงตัว ส่งผลให้เกษตรกรเริ่มมีรายได้สูงขึ้น และมีกำลังซื้อในต่างจังหวัดเริ่มปรับตัวดีขึ้น

6. คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบขยายเวลาคงอัตราภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ไว้ที่ 7% ต่ออีก 1 ปี โดยนับตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2567-30 กันยายน 2568 เพื่อส่งเสริมการกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศ

7. มาตรการภาษีเพื่อกระตุ้นการท่องเที่ยวในเมืองรอง 55 จังหวัด โดยให้มีผลตั้งแต่เดือนพฤษภาคม-พฤศจิกายน 2567

ทั้งนี้ ภาคเอกชนยังได้เสนอแนะแนวทางในการแก้ไขปัญหาต่อภาครัฐ ดังนี้

- ดูแลบริหารจัดการน้ำให้เพียงพอต่อความต้องการของประชาชน เพื่อรองรับกับสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงไป
มาตรการดูแลราคาสินค้าที่เป็นต้นทุนของภาคธุรกิจให้มีความเสถียรภาพ
- การดูแลรักษาอัตราแลกเปลี่ยนให้มีความเหมาะสมต่อการส่งออก รวมทั้งไม่ให้อัตราแลกเปลี่ยนผันผวน
- มาตรการส่งเสริมความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนทั้งชาวไทยและต่างชาติ เพื่อกระตุ้นสภาพเศรษฐกิจภายในประเทศ
- การดูแลเยียวยาช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ภัยธรรมชาติ ทั้งที่คลี่คลายไปแล้ว และบางพื้นที่กำลังเผชิญอยู่
- รักษาเสถียรภาพทางด้านการเงินให้สมดุล เพื่อรองรับกับการเปลี่ยนแปลงของสถานการณ์เศรษฐกิจโลก