ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟซบุ๊ก ระบุว่า"น้ำต้มไมโครเวฟ ดื่มได้ ไม่อันตรายครับ (ถ้าไม่ร้อนไป)"
มีการแชร์คลิปวิดีโอ IG ของหมอท่านหนึ่ง ออกมาห้ามคนกินอาหารที่มาจากเตาไมโครเวฟ โดยอ้างว่า มีงานวิจัยหนึ่ง เอาน้ำเปล่า 2 แก้ว แก้วหนึ่งใส่ไมโครเวฟแล้วทิ้งไว้ให้เย็น ก่อนไปรดน้ำต้นไม้เทียบกัน ต้นที่ราดด้วยน้ำจากไมโครเวฟจะตาย แสดงว่ามีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างโมเลกุลของน้ำ แล้วอาหารที่ผ่านไมโครเวฟล่ะ !?
ไม่จริงนะครับ ! งานวิจัยที่ว่า มันเป็นฟอร์เวิร์ดเมล์หลอกลวง ที่เก่ามากๆ กว่า 15 ปีแล้วครับ .. อ่านรายละเอียด ในกระทู้เก่าพันทิป ด้านล่างครับ
จริงๆ แล้ว ทั้งน้ำและอาหารที่ผ่านการให้ความร้อนจากเตาไมโครเวฟนั้น ก็ไม่ได้ต่างอะไรจากการหุงต้มด้วยเตาแก๊สเตาไฟฟ้า คุณค่าทางอาหารก็คือกัน (อาจจะดีกว่าด้วยซ้ำ ที่ไม่สูญเสียไปกับน้ำที่ต้มเนื้อหรือผัก)
เพียงแต่มีข้อควรระวัง เช่น ถ้าต้มน้ำนานเกินไป อาจเกิดสภาวะ super heating ที่น้ำร้อนจัดถึงจุดเดือดแล้ว แต่ยังไม่เปลี่ยนสภาพเป็นไอ เป็นฟองอากาศ ซึ่งถ้าไปโดนเข้า มันก็อาจจะเดือดพายพุ่งขึ้นมาใส่มือใส่หน้าได้
(สรุปจากกระทู้เก่าพันทิป) "น้ำต้มจากเตาไมโครเวฟทำให้ต้นไม้ตายจริงหรือ "
สืบเนื่องจากรายการ เมืองไทยรายสัปดาห์ ออกอากาศวันที่ 25 มิย. 53 ได้พูดถึงภัยจากเตาไมโครเวฟ โดยใช้ภาพประกอบที่ได้จากการฟอร์เวิร์ดเมลมาแสดง เป็นการทดลองรดน้ำต้นไม้ ด้วยน้ำต้มจากเตาไมโครเวฟ
ซึ่งภาพดังกล่าวทำขึ้นโดย อารีเอล เรย์โนลด์ (Arielle Reynold) เป็นนักเรียนชั้นประถมแห่งหนึ่ง ในรัฐเทนเนสซี ประเทศสหรัฐอเมริกา ทำการทดลองนี้เมื่อปี ค.ศ. 2006 เพื่อนำไปใช้ออกแสดงในนิทรรศการวิทยาศาสตร์ของโรงเรียน
บังเอิญว่า มาร์แชล ดัดลีย์ (Marshall Dudley) เจ้าของเว็บไซต์ Execonn.com และเป็นคุณตาของอารีเอล ภาคภูมิใจกับการทดลองของหลานสาวตัวน้อยเป็นอย่างมาก จึงนำผลการทดลองนี้ขึ้นโพสต์ในเว็บไซต์ และเมล์ส่งต่อไปให้เว็บไซต์ที่มีชื่อเสียงของอเมริกาอีกหลายแห่ง
จากการดูไฟล์ EXIF ของภาพทั้งหมดของอารีเอล คือภาพต้นไม้วันที่ 1 , 3 , 5 , 7 และ 9 ของการทดลอง .. พบว่า ภาพบันทึกโดยกล้อง Canon รุ่น 10D ระหว่างวันที่ 9 – 13 มีนาคม ค.ศ. 2006 และพบความผิดปรกติในภาพเหล่านั้นครับ ได้แก่
- ภาพของวันที่ 9 (ต้นไม้ที่รดน้ำไมโครเวฟ เหลือแต่ตอ) บันทึกเมื่อวันที่ 13 มีนาคม แต่ภาพของวันอื่นๆ นั้นบันทึกตั้งแต่วันที่ 9 มีนาคม (ซึ่งจริงๆ ควรเริ่มทดลองตั้งแต่วันที่ 5 มีนาคม)
- มีการสร้างภาพการทดลองวันที่ 1 , 3 และ 5 ขึ้นมา
- โดยพบว่ามีการตัดต่อภาพต้นไม้ จากภาพหนึ่งไปย่อส่วน แล้วพลิกข้างซ้ายเป็นขวาซ้อนลงบนกระถางของอีกภาพ มีรอยตัดต่อภาพชัดเจน จากสีของดินรอบต้นไม้ ที่สว่างกว่าดินส่วนอื่นในกระถาง
- ภาพต้นไม้ที่รดน้ำไมโครเวฟ และกุดๆ ไม่มีใบนั้น เมื่อดูภาพโคลสอัพใกล้ๆ เห็นรอยถูกตัดเรียบกริบ ใบไม้ที่หายไปนั้นเพราะถูกตัดออกจากต้น ไม่ใช่การเหี่ยวเฉาแต่อย่างใด
สรุป การทดลองชั้นประถมนี้ มีความตั้งใจหลอกลวง โดยมีทั้งการตัดต่อภาพ และตัดใบต้นไม้ทิ้งเลยครับ ไม่ได้น่าเชื่อถือแต่อย่างไร