นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ ครั้งที่ 4/2567 ว่า วันนี้ที่ประชุมได้พิจารณาเห็นชอบ 2 เรื่อง เรื่องแรกคือ แนวทางปฏิบัติในการเพิ่มความครอบคลุมของวัคซีนในโรคที่ป้องกันได้ด้วยวัคซีน ได้แก่ โรคหัด และโรคไอกรน เนื่องจากยังพบรายงานผู้ป่วยในหลายพื้นที่ โดยเฉพาะในภาคใต้ และการสานต่อนโยบายฉีดวัคซีนป้องกันการติดเชื้อไวรัส HPV เพื่อลดการเจ็บป่วยและเสียชีวิตด้วยมะเร็งปากมดลูกในหญิงไทย โดย
1. เร่งรัดการฉีดวัคซีนป้องกันโรคหัด หัดเยอรมัน และคางทูม (MMR) ในเด็กอายุ 0 – 5 ปี ในจังหวัดที่มีความครอบคลุมวัคซีนต่ำกว่าร้อยละ 95 หรือการเข้าถึงบริการสาธารณสุขไม่เพียงพอ โดยจัดโครงการเพิ่มการเข้าถึงวัคซีนหัด (Reach Out Program) เช่น จัดหน่วยวัคซีนเคลื่อนที่รณรงค์ในชุมชน เฝ้าระวังอาการสงสัยโรคหัด หากพบ
ผู้ที่มีอาการสงสัยให้รีบพบแพทย์เพื่อวินิจฉัยและรักษา
2. เน้นความครอบคลุมการได้รับวัคซีนไอกรนในเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี ทุกพื้นที่ให้ได้มากกว่าร้อยละ 90 และเน้นการให้วัคซีนไอกรนชนิดไร้เซลล์ในหญิงตั้งครรภ์ทุกราย เพื่อให้เด็กแรกคลอดมีภูมิคุ้มกันต่อโรคไอกรน รวมถึงเฝ้าระวังอาการสงสัยโรคไอกรน โดยเฉพาะในกลุ่มเด็กนักเรียน หากพบผู้ที่มีอาการสงสัยให้รีบพบแพทย์
3. ให้บริการฉีดวัคซีนป้องกันการติดเชื้อไวรัส HPV ต่อเนื่องเป็นปีที่ 2 ซึ่งจะเป็นการให้เข็มที่ 2 ในกลุ่มเป้าหมายอายุ 11 - 20 ปี ที่เคยฉีดเข็มที่ 1 มาแล้ว และให้วัคซีน HPV ชนิด 9 สายพันธุ์ เป็นเข็มที่ 1 สำหรับนักเรียนหญิง ชั้น ป.5 ปีการศึกษา 2567 ในช่วงเดือนมกราคม - กุมภาพันธ์ 2568 (ก่อนปิดภาคเรียน) ส่วนกลุ่มเป้าหมายนอกเหนือจากนักเรียนหญิงชั้น ป.5 ที่ยังไม่ได้รับการฉีดเข็มที่ 1 ในปีที่แล้ว จะให้บริการในเดือนมีนาคม – เมษายน 2568 ตั้งเป้าหมายการฉีดให้ได้มากกว่า 1 ล้านโดส เพื่อลดการเจ็บป่วยและเสียชีวิตด้วยมะเร็งปากมดลูกในหญิงไทย ซึ่งจะมีกิจกรรม Kick-off วัคซีน HPV 5 ภาคทั่วประเทศ เริ่มครั้งแรกวันที่ 20 ธันวาคม 2567 ที่จังหวัดปทุมธานี
นอกจากนี้ ยังเห็นชอบร่างประกาศคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ เรื่อง การเพิ่มเติมผู้แทนจากหน่วยงานของรัฐในคณะทำงานประจำช่องทางเข้าออก ประจำด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศ จังหวัดนราธิวาส 3 ด่าน คือ พรมแดนสุไหงโก-ลก พรมแดนบูเก๊ะตา และพรมแดนตากใบ รวมถึงรับทราบนโยบายการสนับสนุนการดำเนินงานขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ในการจัดซื้อจัดหาวัคซีน ซึ่งสถาบันวัคซีนแห่งชาติ กรมควบคุมโรค และกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ได้ดำเนินการหาแนวทางการสนับสนุนการดำเนินงานของ อปท. ในส่วนที่เกี่ยวข้อง และแจ้งต่อคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด และคณะกรรมการโรคติดต่อกรุงเทพมหานคร
ขณะเดียวกัน ที่ประชุมได้รับทราบสถานการณ์โรคติดต่อที่สำคัญ ได้แก่ โรคไข้หวัดนก ซึ่งสถานการณ์ทั่วโลกยังมีรายงานผู้ป่วยอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในสหรัฐอเมริกา ที่พบผู้ป่วยมีประวัติสัมผัสสัตว์ปีกและโคนม และในปีนี้พบการระบาดของโรคไข้หวัดนกในประเทศเพื่อนบ้านทั้งในคนและสัตว์ ประเทศไทยแม้จะไม่พบผู้ป่วยไข้หวัดนกในคนมาตั้งแต่ ปี 2549 แต่ยังมีความเสี่ยงและต้องเฝ้าระวัง เนื่องจากมีพรมแดนติดกับประเทศเพื่อนบ้านที่มีการระบาด มีการเดินทางระหว่างประเทศ มีการค้าขายและเคลื่อนย้ายสัตว์ปีกมีชีวิต, โรคไข้หวัดใหญ่ พบมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเล็กน้อยและมีการระบาดเป็นกลุ่มก้อนอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในโรงเรียนและเรือนจำ ปัจจุบันพบการระบาดในศูนย์ดูแล/ฟื้นฟูผู้สูงอายุและสถานสงเคราะห์มากขึ้น และโรคโควิด 19 พบผู้ป่วยเริ่มมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น สอดคล้องกับปี 2566 ที่พบผู้ป่วยเพิ่มสูงในช่วงเดือนพฤศจิกายน – มกราคม ส่วนผู้เสียชีวิตพบเพิ่มขึ้นเล็กน้อย
นายสมศักดิ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ในช่วงเทศกาลปีใหม่ที่จะถึงนี้ จะมีการรวมกลุ่มและเคลื่อนย้ายของผู้คนเป็นจำนวนมาก ขอให้ประชาชนเข้มการป้องกันโรค โดยการรักษาสุขอนามัยส่วนบุคคล ล้างมือบ่อยๆ หากมีอาการป่วยทางเดินหายใจ ให้สวมหน้ากากอนามัยทุกครั้ง หลีกเลี่ยงการสัมผัสกับผู้ป่วยหรือเข้าไปในพื้นที่เสี่ยง เช่น สถานที่แออัด