นายนพดล ปัทมะ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวถึงการที่มีผู้เห็นต่างยื่นหนังสือถึงรัฐบาล รวมทั้งการเรียกร้องให้ยกเลิก MOU 44 นั้น ตนเห็นว่ารัฐบาลพร้อมรับฟังความเห็นต่าง และตอบทุกข้อห่วงใย แต่ความเห็นต่างนั้นควรตั้งอยู่บนข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายที่ถูกต้อง อย่าใช้ความเท็จมาโจมตีรัฐบาล เช่นบอกว่าถ้าเจรจาตาม MOU 44 จะทำให้เสียดินแดน ซึ่งไม่จริง และคงไม่มีรัฐบาลไหนไร้จิตสำนึกจนทำให้ไทยเสียดินแดน ตนไม่อยากเห็นการใช้ความเท็จ เพราะเคยเป็นเหยื่อการใส่ร้ายเรื่องเขาพระวิหารว่าพวกตนจะทำให้เสียดินแดน ปลุกปั่น จุดกระแส แต่ท้ายที่สุดศาลฎีกาฯ ตัดสินยกฟ้องตนและในคำพิพากษาระบุว่าสิ่งที่ตนทำนั้นถูกต้องตามสถานการณ์ และประเทศจะได้ประโยชน์จากสิ่งที่ตนทำ แต่ไม่มีใครรับผิดชอบกับความเสียหายที่เกิดจากการปลุกปั่น ไม่ว่าจะเป็นการสู้รบกับเพื่อนบ้าน การเสียชีวิต และความสัมพันธ์ระหว่างประเทศเสื่อมทรามลง เป็นต้น เราคนไทยด้วยกันควรพูดกันด้วยเหตุผลและยึดประโยชน์ประเทศ
นายนพดล กล่าวอีกว่า การเรียกร้องให้ยกเลิก MOU 44 โดยอ้างว่าจะทำให้ไทยเสียดินแดนเพราะไทยไปยอมรับเส้นไหล่ทวีปของกัมพูชา ก็ไม่เป็นความจริง เพราะไม่มีเนื้อหาตอนใดของ MOU 44 ที่ไปยอมรับเส้นของกัมพูชา อีกทั้งแผนผังแนบท้าย MOU 44 เพียงสะท้อนเส้น 2 เส้นที่กัมพูชาและไทยประกาศ การสะท้อนเส้น ไม่ถือว่าเป็นการยอมรับเส้น ยิ่งกว่านั้น เนื้อหาในข้อ 5 ของ MOU 44 ปกป้องสิทธิ์ฝ่ายไทยไว้ ตามที่ระบุไว้ว่าตราบใดที่ยังไม่มีข้อตกลงเรื่องการแบ่งเขตทางทะเล ให้ถือว่า เนื้อหา MOU 44 จะไม่มีผลกระทบต่อการอ้างสิทธิ์ทางทะเลของทั้งไทยและกัมพูชา ดังนั้น การให้ความเห็นว่า MOU 44 ไปยอมรับเส้นของกัมพูชาจึงขัดกับข้อเท็จจริง ข้อกฎหมายและไม่เป็นผลดีต่อท่าทีของไทย หากสงสัยควรสอบถามกรมสนธิสัญญาและกฎหมาย
นายนพดล กล่าวเพิ่มเติมว่า รู้สึกแปลกใจที่แทบทุกรัฐบาลที่ผ่านมาได้ใช้ MOU 44 ในการเจรจากับกัมพูชา ก็ไม่เห็นมีการคัดค้าน และเห็นว่าการเรียกร้องให้ยกเลิก MOU จะมีผลเสียมากกว่าผลดี เนื่องจาก 1.หลังยกเลิกการประกาศเขตไหล่ทวีปของแต่ละฝ่ายก็จะยังคงอยู่ พื้นที่อ้างสิทธิ์ทับซ้อน 26,000 ตร.กม. ก็ยังคงอยู่ ไม่ได้หายไปพร้อมกับ MOU 2. ไทยและกัมพูชาไม่สามารถเข้าไปสำรวจขุดเจาะน้ำมันและแก๊สในพื้นที่อ้างสิทธิทับซ้อนได้ ตนไม่เห็นว่าใครจะได้ประโยชน์ 3. ทั้ง 2 ฝ่ายไม่มีความผูกพันที่จะต้องเจรจาเรื่องแบ่งเขตทางทะเลและพัฒนาร่วมควบคู่กันไปแบบผูกติดกัน และ 4. เงื่อนไขข้อ 3 ของ MOU ที่ผูกพันให้ทั้งสองฝ่ายเจรจาแบ่งเขตทางทะเลตามหลักกฎหมายระหว่างประเทศก็จะสิ้นผลไปพร้อมกับ MOU ซึ่งเมื่อไทยไม่ยอมรับเส้นของกัมพูชา แล้วจะไปยกเลิกช่องทางการเจรจาให้ได้ข้อสรุปที่สอดคล้องกับหลักกฎหมายระหว่างประเทศไปทำไม ฟังดูย้อนแย้ง